“อำนาจเจริญ” เดินหน้าพัฒนาจังหวัดสู่ “เมืองธรรมเกษตร” ชู “ปฏิรูปการศึกษาเพื่อการมีงานทำ” ยกระดับคุณภาพชีวิต

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2015 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์ จังหวัดอำนาจเจริญ โดย คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ และภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้ "โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน" (Area-Based Education) เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาพัฒนาจังหวัดตามยุทธศาสตร์ "เมืองธรรมเกษตร" ตั้งเป้าพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาสังคม ผสานความร่วมมือทุกภาคปูทักษะพื้นฐานเด็กและเยาวชนสู่สัมมาชีพ นายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ คณะกรรมการโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ฯ เปิดเผยว่าอำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ที่มีปัญหาด้านการศึกษาทั้งเด็กด้อยโอกาส เด็กออกจากการศึกษากลางคัน มีสถานศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และเกือบ 50 แห่งมีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาด้านเศรษกิจและความยากจนที่ส่งผลให้เด็กของเราด้อยโอกาสทางการศึกษา มีเด็กจำนวนมากที่จบแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่ได้ศึกษาต่อ คณะทำงานของจังหวัดฯ จึงตั้งเป้าหมายการทำงานว่า ทำอย่างไรเด็กของเราถึงจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังทำให้ขาดโอกาส ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ ทำอย่างไรเขาถึงจะมีสัมมาชีพที่ดี เรียนรู้ที่จะอยู่ในชุมชน มีคุณภาพที่ดีของชีวิตตัวเองได้ โดยตอนนี้เราได้ระดมวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยการสนับสนุนทางวิชาการและร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชน ทั้งท้องถิ่น ภาคราชการ "ในขณะที่เศรษฐกิจของจังหวัดมีรายได้น้อย เป็นเมืองที่มีความยากจน ภาคประชาชนเองพยายามที่จะลุกขึ้นมายืนอย่างมีศักดิ์ศรี โดยเมื่อดูศักยภาพของพื้นที่แล้วทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าอยากจะพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของภาคการเกษตร เพราะอำนาจเจริญเราไม่มีศักยภาพในเรื่องอื่นๆ แล้วก็พยายามเอาภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องของการทำมาหากิน การมีสัมมาชีพ ทุกฝ่ายก็มาคุยกัน ท้ายสุดตกตะกอนว่าเราต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้เป็นเมืองเกษตร และเป็นเมืองธรรมเกษตร โดยจะเริ่มเข้าไปดูในโรงเรียนแล้วพัฒนาศักยภาพรายบุคคล ดูข้อมูลเป็นรายบุคคลในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส กลุ่มที่มีศักยภาพ เราก็พยายามให้มีการแนะแนวไปต่อยอด มีทั้งอาชีวะ ทั้งเข้ามหาวิทยาลัย ในส่วนเด็กที่มีศักยภาพน้อย เราก็พยายามที่พัฒนาให้มีหลักสูตรท้องถิ่น ให้มีภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้มีทักษะชีวิตที่ดี เป้าหมายคือเราอยากจะให้เขามีสัมมาชีพ แล้วก็เรียนรู้ในการที่จะอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ แล้วเราค่อยพัฒนาให้เขามีศักยภาพในเรื่องของทักษะของความเป็นสมัยใหม่เท่าที่สมควร ทั้งในเรื่อง IT ทั้งในเรื่องภาษาเท่าที่เราจะพัฒนาได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน ส่วนราชการ ถักทอร่วมมือกัน เอาพื้นที่ทั้งหมดจังหวัดอำนาจเจริญเป็นห้องเรียน มีการจัดการข้อมูล จัดการกลไกระบบ เพราะเราอยากจะให้เด็กอำนาจเจริญทุกคนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ให้เสียโอกาส หรือถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาเริ่มต้นที่ครอบครัว เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่สุด เพราะการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในสร้างให้เด็กมีการพัฒนาเต็มศักยภาพเป็นเด็กดี" นายแพทย์ชัยพร กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ