กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ "ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา" จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาภายใต้แนวคิด "พลเมืองเชียงใหม่รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ" ชู "แม่อายโมเดล" พื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษา ผสานความร่วมมือ "ผู้ประกอบการ-มหาวิทยาลัย" พัฒนาแรงงานคุณภาพจากรั้วโรงเรียนสู่โลกของการทำงาน เพื่อขยายผลจัดการศึกษาเพื่อการมีสัมมาชีพทั้งจังหวัด
จากเวทีการระดมความคิดเห็นที่จัดโดย ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา พบว่า ปัจจุบันนักเรียนร้อยละ 25 ราว 86,000 คน ขาดทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรียนโดยไม่มีเป้าหมายในชีวิต ขาดทักษะการทำงาน ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ เมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จึงเป็นที่มาของ "แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่" 5 ข้อประกอบด้วย 1)การสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชียงใหม่ 2)การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 3)ส่งเสริมให้จัดการศึกษาให้มีสัมมาชีพอย่างมีคุณภาพ 4) การพัฒนาครู บุคคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ผู้ปกครอง และ 5)สร้างเครือข่ายความร่วมมือจัดการศึกษาทุกภาคส่วนในจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้ทางภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษายังได้จัดทำข้อเสนอแนะใน 7 ประเด็นเพื่อการปฏิรูปเชิงพื้นที่เพื่อเสนอแก่รัฐบาล โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับข้อเสนอในระหว่างการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ
โดย "โรงเรียนแม่อายวิทยาคม" สังกัดองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งโรงเรียนนำร่องจัดการศึกษาเพื่อการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ, บริษัท เพียรกุศลไหมและฝ้าย จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ โครงการ Career Academy พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน "ห้องเรียนหม่อนไหมและใยฝ้าย" เพื่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้เรียนรู้ทั้งงานเชิงวิชาการควบคู่ไปกับการฝึกทักษะอาชีพ อาทิ การปลูกใบหม่อน การทำเส้นใยธรรมชาติ การทอผ้า รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาดอย่างครบวงจร
โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้มีความรู้ มีทักษะ และมองเห็นห่วงโซ่ทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมหม่อนไหมและผ้าทอ ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับความรู้ที่ได้รับ ขยับขยายขึ้นไปเป็นเจ้าของธุรกิจหรือประกอบอาชีพตามความถนัด และศักยภาพของตนเองในกระบวนการต่างๆ ของอุตสาหกรรมสิ่งทอเมื่อจบการศึกษา หรือนำไปพื้นฐานการศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในอนาคต
นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่อายวิทยาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนที่จบ ม.3 แล้วต้องตกงาน กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ขาดทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ทางโรงเรียนจึงได้ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและฝึกทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบครบวงจร โดยได้ปรับหลักสูตรให้มีการเรียนวิชาพื้นฐานในภาคเช้า ส่วนในภาคบ่ายเป็นวิชาการงานทุกวัน อาทิ การปลูกหม่อน การทำเส้นใยธรรมชาติ และการทอผ้า
"ห้องเรียนหม่อนไหมและใยฝ้ายเป็นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และทำให้ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างภาคีเครือข่ายการศึกษา และภาคธุรกิจในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพว่าเด็กนักเรียนควรมีคุณสมบัติอย่างไร ภาคมหาวิทยาลัยจะช่วยดูแลเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนประดิษฐ์คิดค้นในสิ่งใหม่ๆ ขณะที่ภาคธุรกิจ ก็ช่วยพัฒนาในการออกแบบดีไซต์ลวยลายผ้าและรูปแบบสินค้า โดยนักเรียนเป็นผู้สร้างนวัตกรรมลงมือทำเอง โดยเขาสามารถที่จะปลูกหม่อน ผลิตเส้นใย และสามารถถักทอในบ้าน เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ก็สามารถนำไปขายได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เป็นการเพิ่มพูนรายได้ ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่านี้เป็นอีกวิธีการทำงานและการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งที่จะสามารถให้นักเรียนอยู่รอดในโลกอนาคต"
ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ นางวีรพรรณ เพียรกุศล เจ้าของบริษัทเพียรกุศลไหมและฝ้าย กล่าวว่า ห้องเรียนหม่อนไหมสามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านแรงงานและการผลิตวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ต้องส่งต่อให้กับของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอเส้นใยธรรมชาติซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน
"เด็กๆ จะรู้ว่าเส้นใยทั้งไหมและฝ้ายนั้นมีที่มาอย่างไร การทอผ้าเป็นอย่างไร และหลังจากนั้นก็รู้จักการทอด้วยมือ สิ่งความรู้ในการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากไหมและฝ้ายนั้นจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศของเราได้ เพราะทุกวันนี้วัตถุดิบต่างๆ เราต้องไปซื้อแบบสำเร็จมาใช้ทอ ซึ่งการทอเป็นเพียงแค่กระบวนการหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ง่ายที่สุด แต่ตัวพื้นฐานที่สำคัญคือวัตถุดิบนั้นเราจะต้องสร้างขึ้นเองเพื่อเราจะได้เข้มแข็งและแข่งขันกับนานาประเทศได้ในเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเรื่องของไหมกับฝ้ายยังต่อยอดไปถึงเรื่องของสิ่งทอจากธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ"
นายไพรัช ใหม่ชมพู ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่าแม่อายโมเดลเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สามารถตอบโจทย์และแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดีในทุกประเด็น ซึ่งทางคณะทำงานภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะพยามยามทำความเข้าใจกับครูและโรงเรียนทุกแห่งจังหวัดในเรื่องเหล่านี้เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"วันนี้แม่อายวิทยาคมได้จัดการเรียนรู้ที่ตรงกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของการศึกษาในภาพรวมของประเทศและของจังหวัดเชียงใหม่ และคิดว่าหากโรงเรียนอื่นๆ อีกกว่า 1,700 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่นำกระบวนจัดการเรียนการสอนในลักษะนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของตนเอง ก็จะสามารถสร้างทางเลือกในการเรียนรู้และดำรงชีวิตให้กับเด็กได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราจัดการศึกษาแบบลู่เดียว ส่งเด็กทั้งหมดสู่ระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความรู้และความสามารถของผู้เรียน จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของนักเรียนในภาพรวมทั้งหมด แต่วันนี้ถ้าทุกโรงเรียนนำแม่อายโมเดลไปใช้ เราสามารถจะคัดเลือกเด็กได้ตามความสามารถ ทุกคนก็จะมีความสุขตามศักยภาพของตนเองหรือมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น"
ซึ่งแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การมีสัมมาชีพในท้องถิ่นของ "แม่อายโมเดล" และภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ทุนทางสังคมและศักยภาพของพื้นที่แล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นยกระดับการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างยั่งยืน.