กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
เพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญของชีวิตที่นำไปสู่การพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ แต่การจัดการศึกษา "ตัดเสื้อโหล" ในรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ได้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรแบบการเรียนรู้จึงเป็นทางออกที่สำคัญ
"สุรินทร์" เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขับเคลื่อน โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ Area Base Education (ABE) ที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ "โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์" เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดสุรินทร์ทุกคนได้รับบริการทางการศึกษาตามความต้องการอย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละคน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่น ย่อมแตกต่างกัน การบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจึงควร "ตอบโจทย์" ตามบริบทของจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ
จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ จึงได้จับมือกับ 20 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง พัฒนาเครือข่าย "ปัญจภาคี" ที่ประกอบด้วย พ่อแม่ผู้ปกครอง, สถานศึกษาดั้งเดิม สถานศึกษาทางเลือก การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.), องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, หน่วยงานสนับสนุนการศึกษา และองค์กรเอกชน มูลนิธิ สภาเด็กและเยาวชน ช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนลูกหลานคนสุรินทร์ อย่างน้อยต้องได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือได้รับการฝึกทักษะอาชีพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
รวมทั้งการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดออกกลางคัน หลังพบตัวเลขเด็กและเยาวชนออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับหรือออกกลางคันในพื้นที่นำร่องมากถึง 714 คน พร้อมร่วมกันกำหนดมาตรการติดตามช่วยเหลือด้วยการประสานกับวิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่จัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น เพื่อให้มีทักษะอาชีพ และเกิดสัมมาชีพในพื้นที่ พร้อมประสานงานกับ กศน. ในพื้นที่ดึงเด็กและเยาวชนทั้งหมดกลับมาให้ได้รับการศึกษาจำนวน 406 คน และมีทักษะอาชีพด้านต่างๆ จำนวน 219 คน ตั้งเป้าขยายผลการทำงานออกไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่าการดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์นอกจากสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น การเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือในเมื่อเราเป็นประเทศเกษตรกรรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังเยาวชนของเราให้มีความรู้ในเรื่องของเกษตรกรรม
"ต้องให้เด็กของเรามีความรู้ในเรื่อง การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การประมง การทำนา หลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่จะต้องเป็นการทำการเกษตรแบบที่มีการวางแผนอย่างมีระบบ ไม่ใช่เกษตรกรรมตามยถากรรมแบบเดิมๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องปลูกฝังและเรียนรู้ควบคู่ไปด้วยกัน"
นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และเลขานุการคณะกรรมการโครงการการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ระบุว่าจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องที่นำร่อง 20 แห่ง พบว่ามีเด็กและเยาวชนที่ออกกลางคัน 714 คน จึงได้ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับให้ได้ศึกษาต่อกับการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนที่ออกกลางคันระดับมัธยมปลายหรือยังไม่มีงานทำก็ให้เข้ารับการฝึกอาชีพ ส่วนการดำเนินงานโครงการการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์นั้นก็ได้ออกแบบโครงสร้างการทำงานที่แตกต่างจังหวัดอื่นๆ โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัด กับคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับพื้นที่ในระดับตำบลเป็นผู้ดำเนินงาน
"เรามีเป้าหมายในการจัดตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ โดยได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมขับเคลื่อนสมัชชาการศึกษา เบื้องต้นได้รับการตอบรับจากสภาองค์กรชุมชนในการมาช่วยกันทำให้คนสุรินทร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และภาคเอกชนอื่นๆ ก็ ให้ความสนใจที่จะร่วมขับเคลื่อนสมัชชาดังกล่าวไปด้วยกัน และการทำในในเบื้องต้นที่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมถึง 20 แห่ง จึงเป็นความหวังว่าเมื่อท้องถิ่นเห็นความสำคัญตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น เพราะหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในระยะต่อไปคาดว่าสุรินทร์จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมครบ 172 แห่งเต็มพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้แน่นอน"
สำหรับการติดตามช่วยเหลือเยาวชนที่ออกกลางคันอย่างเป็นรูปธรรมมีตัวอย่างปรากฏชัดในหลายๆ พื้นที่ อย่างที่ องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีการติดตามช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนที่ออกกลางคัน จำนวน 12 คนให้ได้ศึกษาต่อ และชักชวนให้เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นจนได้งานทำมีรายได้ ส่วนหนึ่งได้ฝึกฝนงานช่างยนต์กับผู้ประกอบการในที่พื้นที่
นายณัฐพร ยืนยาว เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งได้งานช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็ก หลังจากได้รับการฝึกอาชีพ เปิดเผยว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ ที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเนื่องจากไม่รู้สึกอยากเรียน แต่เมื่ออยู่บ้านเฉยๆก็ไม่มีความสุข และไม่มีรายได้ต้องขอเงินจากพ่อแม่ เมื่อสามารถหารายได้เองได้จึงรู้สึกภูมิใจ และยังแบ่งรายได้ช่วยครอบครัวอีกด้วย ซึ่งในเร็วๆนี้จะกลับไปเรียนต่อ กศน.ให้จบมัธยมต้น
"ดีใจที่มีโครงการนี้ ผมชอบงานช่างมากกว่าเรียนสายสามัญ อย่างน้อยก็ซ่อมเครื่องยนต์ในบ้านได้ ผมได้เรียนรู้แล้วว่า ความสุขของผมคือได้ทำงานมีรายได้ดูแลตัวเอง ดีกว่าขอเงินพ่อแม่อยู่ไปวันๆ"
นายสถาพร แก้วยก เยาวชนอายุ 18 ปี เปิดเผยว่าตนเรียนจบชั้น ม.3 แต่ไม่ได้เรียนต่อ เมื่อได้ฝึกอบรมวิชาชีพช่างยนต์ จนสามารถซ่อมมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์การเกษตรต่างๆได้ ซึ่งการฝึกงานช่วยให้มีประสบการณ์เพิ่ม ถ้ามีความชำนาญมากขึ้นจะไปเปิดร้านซ่อมเครื่องยนต์ ควบคู่กับการเรียนให้จบชั้น ม.ปลาย
"ผมได้ทำได้ทำในสิ่งที่ชอบ คือได้รู้เรื่องเครื่องยนต์ ได้อยู่ในชุมชน อยู่ใกล้บ้าน รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เครื่องยนต์ เครื่องสูบน้ำในบ้านเสียผมก็ซ่อมได้ ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น"
ขณะที่ นายพงษ์สิทธิ์ เสมอภาค อายุ 19 ปี จบ กศน.มัธยมปลาย เล่าว่าเคยเข้าไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต่อมาได้กลับมาเรียนต่อและทราบว่ามีโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นจึงได้เข้าฝึกอบรมและได้มาฝึกงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งถือว่าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้มีรายได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และจะกลับไปเรียนต่อที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีทักษะที่สูงขึ้น
เยาวชนกลุ่มนี้คือผลิตผลส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่ท้องถิ่นทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม นับเป็นกระบวนการทำงานจังหวัดสุรินทร์ที่สามารถสร้างให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญ อันเป็นบันไดสำคัญเพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ในอนาคตอันอีกไม่ไกลนับจากนี้.