กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--อพวช.
ปทุมธานี/ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กับผลงาน "Light and Molecules" (แสงกับโมเลกุล) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับผลงาน "การประยุกต์ใช้แสงเพื่อรักษาอาการทางโรคอัลไซเมอร์" คว้ารางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ในการประกวดค่ายโครงการ "ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย 2558 รุ่นที่ 12 (Young Thai Science Ambassador 2015)" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 ธันวาคม 2558 ณ อพวช. ต.คลองห้า จ.ปทุมธานี โดยเยาวชนทั้ง 2 ทีม จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไป ทัศนศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด จัดพิธีประกาศผลการประกวดโครงการ "ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย 2558 รุ่นที่ 12 (Young Thai Science Ambassador 2015)" ภายใต้หัวข้อ "Miracle of Light"(มหัศจรรย์แห่งแสง) ในวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ ในระดับอุดมศึกษา มาทำหน้าที่เป็นฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ โดยการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สู่สังคมต่อไปในอนาคต
ผลปรากฎว่ารางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ตกเป็นของ 2 ทีม ได้แก่ ทีม CMU มีสมาชิก นายภัทรพล รอดละมูล และนางสาวพิมพ์ชนก ต๊ะแปงปัน ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน "Light and Molecules" (แสงกับโมเลกุล) อธิบายเรื่องใช้แสงเลเซอร์มาช่วยทำนายโครงสร้างของสาร ทำให้สามารถเห็นรูปร่างของโมเลกุลและสสารต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น อีกหนึ่งทีมที่รับรางวัลนี้เช่นกัน คือ ทีมไม้ขีดไฟ สมาชิก นายธนวัฒน์ หนองน้อย และนายอิทธิศักดิ์ พรหมมา ภาควิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน "การประยุกต์ใช้แสงเพื่อรักษาอาการทางโรคอัลไซเมอร์" โดยหยิบยกความมหัศจรรย์ของแสงกับการรักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์ มาสื่อสารให้กับสังคมหวังสร้างความตระหนักเกียวกับโรคนี้ ทั้งนี้เยาวชนทั้ง 2 ทีม จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ณ ประเทศเยอรมนี
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า "รู้สึกยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุกคน รางวัลเป็นเพียงแรงจูงใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่เยาวชนทุกคนที่ได้เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ได้มากกว่านั้น คือมิตรภาพกับเพื่อนจากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่มีความชอบเหมือน ๆ กัน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบกาณ์ ได้พบปะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศมาเล่าประการณ์ในฐานะเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ซึ่งในอนาคตเราคาดหวังว่าเยาวชนที่ผ่านการเข้าค่ายในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะเปลี่ยนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ โดยการทำหน้าที่ในการถ่ายทอดหรือส่งต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากยากเป็นง่าย จากที่เคยเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนให้กลายเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น"
ด้าน นางสาวพิมพ์ชนก ต๊ะแปงปัน ตัวแทนทีม CMU จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "พวกเรารู้สึกยินดีกับรางวัลที่ได้รับ สำหรับเรื่องที่ทีมเรานำมาเป็นหัวข้อสื่อสารให้กับสัมคมรับรู้ เป็นเรื่องแสงกับโมเลกุล เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ในฐานะที่ตนเองเรียนภาควิชาเคมี จึงอยากนำเรื่องเคมีมาถ่ายทอดให้กับสังคมได้รับรู้ว่าวิชาเคมีเป็นเรื่องสนุก และจุดประกายความคิดให้กับเยาวชนได้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากการเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ได้รับประสบการณ์และเทคนิคการสื่อสารที่ดีมาก ในอนาคตจะนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวออกมาสู่สังคมในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพต่อไป"
นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ทีม ที่ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น โดย 2 ทีม มาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ทีม Anton สมาชิก นายพัชรวุฒิ รัตนวิทยาพันธุ์ และนายสุทธิกุล กุลค้อ กับผลงานการนำเสนอเรื่อง "แสงจากฟ้า ผ่านม่านเมฆ" อธิบายการเปลี่ยนสีของเมฆ ทีม LED สมาชิก นายมนตรี เภตรา และนายลาภวัต งามวงศ์วาน กับผลงาน "one way mirror (กระจกมองเห็นด้านเดียว)" อธิบายหลักการทำงานของกระจกที่มองเห็นด้านเดียว ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ และโทษหากใช้ผิดวิธี ทีม iRAP_ME สมาชิก นายภัทรพล บุญฉาย และนายสินเมธ มีเฉลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน "Shining in the darkest" อธิบายการทำงานของแอปพิเคชั่นสำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาให้สังคมรับรู้