กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับความพร้อมของประชาชนต่อประชาคมอาเซียน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 20 ธันวาคม – 24 ธันวาคม 2558 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อความพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ภายใต้ข้อตกลงและความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ กัมพูชาและไทย ภายใต้ชื่อสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) หรือประชาคมอาเซียน โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม (One Vision , One identify , One Community) มีการแบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (APSC) ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASCC) ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าการเปิดประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ร้อยละ 69.9 ไม่ทราบ ร้อยละ 20.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 9.7
ในส่วนของความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างที่มีความเข้าใจในเรื่องประชาคมอาเซียนมากที่สุดคือทราบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย 1. ไทย 2. กัมพูชา 3. ฟิลิปปินส์ 4. อินโดนีเซีย 5. เวียดนาม 6. ลาว 7. มาเลเซีย 8. เมียนมาร์ 9. สิงคโปร์ 10. บรูไน ร้อยละ 73.9 ไม่ทราบ ร้อยละ 14.6 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 11.5
ในส่วนของความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างที่มีความเข้าใจในเรื่องประชาคมอาเซียนน้อยที่สุดคือไม่ทราบว่า เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน คือ นายเล เลือง มินห์ จากประเทศเวียดนาม ร้อยละ 47.0 ทราบ ร้อยละ 37.1 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.9
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าประชาชนไทยมีความพร้อมในการเปิดประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ร้อยละ 56.6 ยังไม่มีความพร้อม ร้อยละ 27.7 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ร้อยละ 66.5 ไม่ใช่ ร้อยละ 13.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.1