กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ในวันนี้ (29 ธันวาคม 2558) เวลา 16.30 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีคำร้องขอให้ถอดถอนและ คำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก กับพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเรื่องนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุที่มีการสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ในระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัวเพื่อป้องกันตนเองได้จะเป็นไปตามหลักสากลก็ตาม แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้อาวุธปืนตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นตามความจำเป็น และพอสมควรแก่เหตุ อันเป็นภาระที่หนักและยากอย่างยิ่งในการปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวได้ หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ อันเป็นความรับผิดเฉพาะตัว เช่นเดียวกับนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ จะต้องรับผิดในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนได้ใช้หรืออยู่ระหว่างใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนโดย ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วไม่ดำเนินการยับยั้ง ป้องกัน และรายงานเหตุดังกล่าว ซึ่งคดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษด้วย จึงมีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89/2
สำหรับประเด็นการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง แต่ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อ ผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป ดังนั้นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน