ซอฟต์แวร์พาร์คจับมือโนเกียเปิดโลกใหม่การพัฒนาซอฟต์แวร์หวังฐานของอินเทอร์เน็ตไร้สายชูนักพัฒนาสู่ตลาดไร้สายระดับโลก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday July 25, 2001 17:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ฟรอนเทียร์ ไดเจสต์
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกับบริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระบบสื่อสารไร้สาย ขยายศักยภาพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยสู่ฐานการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือด้วยการจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ mLAB" ขึ้น เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Mobile Internet) และสร้างฐานการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ศูนย์ปฎิบัติการ mLAB นี้ ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นห้องแล็บที่ทันสมัยที่สุดด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์และพีซีประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากฮิวเลตต์-แพคการ์ด และโทรศัพท์มือถือโนเกียรุ่นต่างๆ ประกอบกับ Platform และ Development Toolkits ต่างๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีของ WAP (Wireless Application Protocol)
ในปัจจุบัน ตามด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต เช่น Symbian, Bluetooth และอื่นๆ ดังนี้ศูนย์ฯ นี้จึงพร้อมที่จะให้บรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ศึกษา ค้นคว้า ทดสอบและประเมินผลแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นในสภาพแวดล้อมเหมือนจริงมากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่สำหรับ WAP Hosting บนเว็บไซด์ WAP.THAI.COM จากอินเทอร์เน็ตประเทศไทยดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า "กระแสความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีระบบสื่อสารโทรคมนาคม นับวันจะขยายขอบเขตเชื่อมโยงกับวิถีทางของการดำเนินชีวิตในสังคมที่อินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทสำคัญ ดังนั้น ตลาดของการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านอินเทอร์เน็ตไร้สาย จึงกว้างใหญ่เกินกว่าบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันจะตอบสนองได้ นับเป็นโอกาสอันดีต่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยที่จะมีส่วนแบ่งของตลาดโลกในส่วนนี้"เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายเป็นเทคโนโลยีอีกแขนงหนึ่งที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยควรศึกษาและสร้างโอกาสสำหรับในอนาคต ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างโนเกีย และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ ฮิวเลตต-แพคการ์ด และ อินเทอร์เน็ตประเทศไทย
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายของความรู้ทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายในหมู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยได้อย่างดี ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีแขนงใหม่ที่ทั่วโลกต่างต้องการแอพพลิเคชั่นกันอีกมาก รวมถึงความต้องการภายในประเทศที่แอพพลิเคชั่นจากต่างประเทศไม่อาจสนองตอบได้ ความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการ mLAB ครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของเขตอุตสาหกรรมฯ ในการเปิดโลกทัศน์และโอกาสทางธุรกิจใหม่แก่นักพัฒนาซอตฟต์แวร์ไทยนั่นเอง" ดร.รอม กล่าวเสริมนายกฤษณัน งามผาติพงศ์ กรรมการผู้จัดการ (โนเกีย โมบาย โฟนส์) บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายปัจจุบัน มีบทบาทอย่างมากต่อวิถีทางและรูปแบบของการสื่อสารในสังคมยุคอินเทอร์เน็ต แอพพลิเคชั่นของอินเทอร์เน็ตไร้สาย อาทิ WAP, Bluetooth และ Symbian ที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ชนิดพกพากำลังจะกลายเป็นแพลทฟอร์มหลักในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น ในฐานะผู้นำระบบสื่อสารไร้สาย โนเกียจึงมีความประสงค์ที่จะมีบทบาทในการสร้างชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านอินเทอร์เน็ตไร้สายขึ้นในประเทศไทย (Thailand Mobile Internet Developer Community) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สาย และสร้างฐานการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านอินเทอร์เน็ตไร้สายขึ้นในประเทศไทย"การที่จะสร้างให้เกิดชุมชนนักพัฒนาฯ ขึ้นอย่างจริงจัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ แหล่งความรู้ที่เพียบพร้อมให้ศึกษา สนามทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงที่มีอุปกรณ์ครบครัน และเวทีสำหรับแสดงผลงานที่สามารถนำเสนอสู่สังคมได้ ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการ mLAB และศูนย์การศึกษา mSchool ที่มีหลักสูตรการอบรมสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการฝึกฝนความรู้ความชำนาญด้านนี้โดยเฉพาะ จึงถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือที่ลงตัวของพันธมิตรทุกฝ่าย ความนิยมของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายในอดีตที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเกิดจากปัจจัยด้านเนื้อหา (Local Content) ที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยตรง และแอพพลิเคชั่นที่ไม่มีความสะดวกในการใช้งาน (Application) และเทคโนโลยีระบบสื่อสารที่ยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร แต่ด้วยเทคโนโลยี GPRS ที่จะเข้ามาใหม่นี้ จะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ในการใช้งานของผู้บริโภค ประกอบกับการผลักดันอย่างจริงจังของโนเกียผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของแอพพลิเคชั่นอย่างมากมาย ตลอดจนทำให้อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Mobile Internet) เป็นที่นิยม นายกฤษณัน กล่าวเสริม
นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เอชพีเชื่อว่าความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงการใช้เครื่องมือไร้สายที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น ที่มากไปกว่านั้นคือการรวบรวมประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะไร้สายหรือมีสายเข้าอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานด้วยกันเพื่อส่งมอบการให้บริการข้อมูลเฉพาะที่มากมายให้กับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลยุทธ์ใหม่ของเรานี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (transform) การทำธุรกิจ การให้บริการของลูกค้า และการที่ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์สื่อสารไร้สายได้อย่างมีประสิทธิภาพ""ระบบเครือข่ายของศูนย์ MEB ของเอชพีนั้นเป็นสถานที่ที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาในเรื่องของโซลูชั่น และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา mobiles e-services ศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมของการสื่อสารไร้สายเหล่านี้ตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเชื่อมต่อให้กับพันธมิตรต่าง ๆ ของศูนย์ ซึ่งคือผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผู้ส่งสาร นักลงทุน นักรวบรวมระบบ และลูกค้า ให้พันธมิตรเหล่านี้สามารถที่จะดูแลและทดสอบการให้บริการ mobile e-services ใหม่ ๆ เชื่อมต่อและได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม เกี่ยวกับนวตกรรม และโซลูชั่นใหม่ ๆ โนเกียเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของศูนย์ MEB ในระดับโลกของเอชพี สามชิกของ mLAB สามารถใช้อุปกรณ์บางส่วนของศูนย์ MEB อาทิ เทคโนโลยีแพลทฟอร์มได้ นอกจากนั้นแล้ว เอชพียังให้การสนับสนุนในรูปแบบของกิจกรรมการตลาดที่จะช่วยแนะนำและสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ mLAB ในตลาดโมบายด้วยเช่นกัน" นายเชิดศักดิ์กล่าวสรุปนายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "อินเทอร์เน็ตประเทศไทย เล็งเห็นว่าในอนาคต เทคโนโลยี Mobile Internet จะเข้ามามีบทบาทและความสำคัญต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น ไอเน็ตรู้สึกภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมและร่วมผลักดันให้เกิดโครงการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ด้าน Mobile Internet ด้วยการจัดสรรพื้นที่บริการฟรี WAP Hosting ให้นักพัฒนาได้มีโอกาสนำเสนอผลงานสู่สังคมที่ www.wap.thai.com ไอเน็ตเชื่อว่าองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนา Mobile Internet คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สมบูรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดของไอเน็ต"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สุจิตรา โกวิทวณิชกานนท์
บริษัท ฟรอนเทียร์ ไดเจสต์ จำกัด
โทร. 714-0996
suchiko@frontierdigest.co.th-- จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ