กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--NBTC Rights
สุภิญญาเผย จันทร์นี้ กสท. พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ชงเรื่องให้ กสท. พิจารณากรณีบริษัททรูส์วิชั่น กรุ๊ป ยังไม่จัดลำดับบริการโทรทัศน์ ส่งผลให้ 10 ช่องแรกโฆษณาเกิน 6 นาที ผิดกฎหมาย และมีโทษปรับ และการพิจารณาสัดส่วนการเข้าถึงโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและแจกแจงรายได้ระหว่างบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลเข้ามาพิจารณาในจันทร์นี้อีกครั้ง รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตช่องรายการต่างๆ ดาวเทียมและเคเบิลทีวี
การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม นี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ ความเห็นคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์เกี่ยวกับการโฆษณา กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หลังจากที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่ง สนง. กสทช. ได้ตรวจสอบพบว่าจนถึงขณะนี้ บริษัททรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ยังไม่ได้เรียงช่องตามประกาศแต่อย่างใด เป็นผลให้ 10 ช่องแรกมีโฆษณาเกินเวลา ซึ่งผิดพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 ต้องไม่มีการโฆษณาและบริการธุรกิจเกินกว่า 6 นาที และตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 5 นาที อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงเสนอให้ดำเนินการตามมติที่ประชุม กสท. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม สำหรับการโฆษณาเกินเวลาสำหรับโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลระดับชาติให้กำหนดโทษปรับ 1 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 5 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
"ตอนนี้ก็เหลือเพียง ทรูวิชั่นส์รายเดียวที่ยังไม่เรียงช่องใหม่ให้ตรงกัน นอกจากขัดประกาศ กสทช. แล้ว ยังขัดกฏเรื่องการปล่อยให้ฟรีทีวีมาออกใน 10 ช่องแรกซ้ำในช่องของทีวีบอกรับสมาชิก ทำให้โฆษณาเกินเวลากว่าที่กฏหมายกำหนด ซึ่งเป็นอีกความผิดด้วย ... ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด อยากให้ ทรูวิชั่นส์ปรับมาเรียงช่องให้ถูกต้องตามกฏ กสทช. ไม่เช่นนั้นก็จะถูกปรับทับทวีคูณไปเรื่อยๆ และเจอกระแสสังคมคนดูตั้งคำถามอีก ... เพื่อคืนความสุขให้คนดูทีวีไม่สับสน ก็เรียงช่องใหม่รับปีใหม่จะเป็นการดีสำหรับทุกฝ่าย ทำให้ช่องโทรทัศน์ของไทยทุกกล่องมีมาตรฐานเดียวกันคือ ฟรีทีวีช่อง 1-36 ช่อง ต่อไปทั้งหมดก็เป็นช่องเฉพาะของแต่ละกล่อง ดูง่าย จำง่าย ไม่สับสนกันอีกต่อไป" นางสาวสุภิญญากล่าว
นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณาสัดส่วนการเข้าถึงโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและแจกแจงรายได้ระหว่างบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลเข้ามาพิจารณาอีกครั้งโดยมีประเด็นด้านกฎหมายที่ต้องนำมาพิจารณาให้รอบคอบยิ่งขึ้น
"ประเด็นการกำหนดสัดส่วนรายได้ของช่องแอนะล็อกที่ออกผังคู่ขนานใบอนุญาตดิจิตอล ที่นำมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้รอบคอบในประเด็นข้อกฎหมาย แต่โดยส่วนตัวเห็นการเก็บค่าธรรมเนียมต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเป็นธรรมกับรายใหม่หรือไม่ ถ้าสัดส่วนไม่เป็นจริงก็จะทำให้รัฐเสียประโยชน์ และ อาจไม่เป็นธรรมกับรายใหม่ด้วย เพราะรายใหม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเต็มอัตราของรายได้ แต่รายเดิมได้รับการยกเว้นในช่องแอนะล็อก แต่ก็ต้องจ่ายในระบบดิจิตอลที่ประมูลใบอนุญาตมา จากนี้ก็อยู่ที่ว่า กสท. จะเป็นคนกำหนดสัดส่วนที่เอกชนต้องจ่ายให้เหมาะสม หรือ จะปล่อยให้เอกชนกำหนดเองว่าจะจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งไม่ควรเพราะจะน้อยกว่าความเป็นจริง ไม่ถูกครหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายเดิมโดยไม่เป็นธรรมกับรายใหม่ สำคัญต่อการวางระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมระหว่างที่ยังมีการออกอากาศคู่ขนาน " นางสาวสุภิญญากล่าว
และยังมีวาระพิจารณาการให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่สิ้นอายุในปีที่ผ่านมา 20 ช่องรายการ นอกจากตรวจสอบเอกสารต่างๆ แล้วยังนำผลการตรวจสอบประวัติการออกอากาศเกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผังรายการและเนื้อหารายการ รวมทั้งประวัติการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาเพื่อให้ใบอนุญาตใหม่ด้วย รวมทั้งวาระพิจารณาการให้อายุใบอนุญาตของไทยพีบีเอส ติดตามผลการประชุมได้ในวันพรุ่งนี้