กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--hukder company
จากการที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับเกียรติจากทางสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย (Architects Regional Council Asia - ARCASIA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 36 และการจัดการประชุมสัมมนานานาชาติ ครั้งที่18 (The 36th ARCASIA Council Meeting & ARCASIA Forum 18) ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ประเทศไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถของสถาปนิกไทยสู่สายตานานาประเทศ และนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมของไทยให้เทียบเท่าระดับสากล รองรับการเปิดเสรีการค้าและบริการระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (AEC) ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและการศึกษาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย และเปิดโอกาสในการสร้างงานให้กับสถาปนิกทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมาประเทศไทยและท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ
สำหรับคอนเซ็ปต์หลักของการจัดงานดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ "Future of the Past" เป็นการจัดการสัมมนาวิชาการเชิงเคราะห์ด้านสถาปัตยกรรมฟอรั่ม 2015 มีการนำเสนอผลงานเกี่ยวกับงานทางสถาปัตยกรรมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติที่ทำกันในภูมิภาคต่าง โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศชั้นนำในเอเชีย อาทิ ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม องค์ปาฐกและร่วมเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านวิชาการและวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเด็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์มุมมองสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาใน 3 หัวข้อที่น่าสนใจจากสถาปนิกจากทั่วภูมิภาคเอเซีย เช่น The Presence of the Past : A Question of identity and Architectonic Form ด้วยหัวข้อเกี่ยวกับตัวตนของสถาปัตยกรรมยุคหลังโคโลเนี่ยลในประเทศศรีลังกา เรื่องสุเหร่าแบบโมเดิร์นในบังคลาเทศ / The Past in Practice : The Situations of the Vernacular ในหัวข้อ หลงในเขาวงกต การสืบสวนงานสถาปัตยกรรมในไฮเดอลาบัต การออกแบบตึกบริเวณดินถล่ม ในมาเลเซีย / The Relevance of the Past : Negotiating Urban Conditions ในหัวข้อ เราจะสามารถอนุรักษ์เมือง (ลาฮอร์) ได้หรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการเสวนาในหัวข้อเชิงการช่วยสังคม ได้แก่ 3rd ACSR Symposium 2015 ในหัวข้อการสร้างบ้านสำหรับผู้ด้อยโอกาส Housing for the Less Fortunate (ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและการประสบภัยพิบัติ) โดยสถาปนิกจากญี่ปุ่น อินโดนีเซียและจากประเทศไทย โดยคุณปัทมา หรุ่นรักวิทย์ จากบริษัท CASE
ขณะเดียวกัน ในการจัดงานการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 36 นี้มีความพิเศษ คือ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาปนิกแห่งเอเซียเป็นครั้งแรกคือ นายสถิรัตร์ ตัณฑนันทน์ และที่สำคัญยังได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ที่สำคัญกับ 2 องค์กรหลัก ประกอบด้วย
1.ด้านภัยพิบัติ ที่สภาสถาปนิกแห่งเอเชียจะร่วมมือกับศูนย์เตรียมการภัยพิบัติแห่งอาเซีย (Asian Disaster Preparedness Center-ADPC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 19ประเทศ จากปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ด้านภัยพิบัติเกิดขึ้นมากในหลายประเทศในเอเชีย การมีศูนย์กลางความร่วมมือดังกล่าว แต่ละประเทศ จะได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ด้านการแก้ไข การออกแบบสถาปัตยกรรมให้เอื้อต่อการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
2.การต่ออายุความร่วมมือฉบับใหม่ ระหว่างสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA) กับสมาคมสถาปนิกอเมริกา (AIA) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและการปฏิบัติการวิชาชีพ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และสมาชิกในกลุ่มประเทศ
ซึ่งในภาพรวมของการจัดงานดังกล่าว นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในการต้อนรับสถาปนิกชาวเอเชียกว่า 19ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทยเวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี จีน มาเก๊า เนปาล บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย ลาว และภูฏาน รวมทั้งจากทวีปอื่น รวมผู้มาร่วมงานกว่า 600 คน ทั้งสถาปนิกอาวุโส สถาปนิกรุ่นเยาว์ และนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ทั้งนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้นำเอาความงดงามของสถาปัตยกรรมของเมืองหลวงเก่าอย่างอยุธยามานำเสนอในรูปแบบของงานเลี้ยงรับรองในแต่ละวัน เช่น ในงานเลี้ยงต้อนรับอาหารเย็น ณ บ้านคลองสระบัว โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คุณวีระ โรจนพจนรัตน์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเลี้ยงอาหารเย็น ด้วยอาหารไทยแบบดั้งเดิม พร้อมจัดแต่งแบบไทยงดงาม การจัดแสดงนาฏศิลป์แบบอโยธยา การแสดงโขน และการจำลองการลอยกระทงให้แขกต่างชาติได้รับรู้และซึมซับความงดงามของวัฒนธรรมไทย การล่องเรือสำราญพร้อมชมความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวัด โบราณสถานยามค่ำคืนและเกาะอยุธยา รวมทั้งการมอบรางวัลผลงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอาเคเซียพร้อมดินเนอร์ ณ วัดไชยวัฒนาราม ที่มีสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลายที่มีเอกลักษณ์งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองอยุธยา
และอีกไฮไลต์หนึ่งจากการจัดงานนี้ คือ งาน ARCASIA AWARD Night เป็นงานประกาศรางวัลการประกวดแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นของเอเชีย ที่จัดการประกวดและมอบรางวัลมายาวนานกว่า 30 ปี โดยการมอบรางวัล ARCASIA Awards for Architecture 2015 (AAA2015) ถือเป็นรางวัลด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของโลก แบ่งเป็น 10 ประเภท ปีนี้มีผู้ส่งผลงาน 237 ชิ้น ทั้งสถาปนิกชาวไทยและต่างประเทศทั่วเอเซีย โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลสำคัญสุดท้าย ที่คัดเอาจากผู้ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองในแต่ละประเภทมาคัดเลือก The Best Architecture of the Year 2015 ซึ่งในปีนี้ ได้แก่สถาปนิกชาวไทย คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค จากโรงแรมเดอะ นาคา จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้สถาปนิกในภูมิภาคเอเซียได้เผยแพร่ผลงานศักยภาพด้านการออกแบบ และแสดงให้โลก เห็นว่าผลงานด้านสถาปัตยกรรมล้วนมีผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ และหลายชิ้นงานเป็นงานสถาปัตยกรรมระดับโลก อันเป็นความน่าภาคภูมิใจของชาวเอเชีย ตบท้ายด้วยรางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเซีย (The Best Architecture of the Year 2015) โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล มาจากผู้ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองในแต่ละประเภทมาคัดเลือกรางวัลสุดท้าย ซึ่งในปีนี้ ได้แก่สถาปนิกชาวไทย คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค จากโรงแรมเดอะ นาคา จังหวัดภูเก็ต
ผู้ที่สนใจสามารถชมภาพผลงานได้ที่ www.arcasia.org/awards/arcasia-awards-for-architecture