กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การปลูกพืช ใช้น้ำน้อยของเกษตรกรในพื้นที่ สำรวจตำบลหนองพลับ หนองขนาน และปึกเตียน ชู เกษตรกรหันปลูกปลูกแตงโม ทดแทนการทำนาปรัง หนุนมาตรการประชารัฐร่วมใจรับมือภัยแล้ง
นางรัชนี ปิ่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามข้อมูลของเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ที่มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย โดยพืชที่เกษตรกรปลูกได้แก่ ฟักทอง ดาวเรือง และแตงโม
จากการเก็บข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมซึ่งเป็นพืชอายุสั้น ระหว่าง 65 – 70 วัน ในท้องที่ตำบลหนองพลับ หนองขนาน และปึกเตียน พบว่า ต้นทุนในการปลูกอยู่ระหว่าง 20,000 – 25,000 บาทต่อไร่ ราคาผลขนาดใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา อยู่ระหว่าง 12 – 15 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณผลผลิตต่อไร่อยู่ระหว่าง 2,200 – 2,300 กิโลกรัมต่อไร่ ผลตอบแทนสุทธิอยู่ที่ไร่ละ 4,900 บาท ปริมาณน้ำที่ใช้ 642 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อฤดูกาล ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการทำนาปรัง พบว่า ปริมาณน้ำที่ใช้ 1,281 ลบ.ม.ต่อไร่ต่อฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ด้านแรงงานคนที่ใช้ในการปลูกแตงโม 1 -3 คน จะสามารถปลูกได้ประมาณ 3 ไร่ เนื่องจากต้องหมั่นดูแล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรัง 1-3 คน จะสามารถปลูกข้าวได้มากกว่า 10 ไร่