กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและภัยแล้งขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,604 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรวมกันทั้งสิ้น 7.37 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 15.62 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือรวมกัน จำนวน 3,908 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากแผนการบริหารจัดการน้ำยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและรักษาระบบนิเวศน์ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559?
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจทั่วประเทศ พบว่ามีอำเภอที่อยู่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ประมาณ 400 อำเภอทั่วประเทศ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในปี 2559 จึงได้สั่งการเพิ่มเติมในเชิงรุก ควบคู่ไปกับมาตรการรับมือภัยแล้งที่กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการอยู่แล้ว 8 มาตรการ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม เตรียมแผนการช่วยเหลือประชาชนเรื่องน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงสร้างแหล่งเพิ่มเติมด้วยการขุดบ่อน้ำบาดาล โดยตั้งเป้าว่าจะขุดบ่อบาดาลให้แล้วเสร็จจำนวน 2,000 บ่อ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกร และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการรับมือภาวะภัยแล้งเพิ่มเติมด้วย
สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(30 ธ.ค. 58) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 891 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ตามแผนฯ ในฤดูแล้งนี้อีกประมาณ 2,009 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี)
ทั้งนี้ การใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ในส่วนการของเพาะปลูกพืช พบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,582,465 ไร่ ซึ่งแม้ว่าเกษตรกรจะเข้าใจถึงสถานการณ์จากการชี้แจงของรัฐ แต่หากยังไม่หยุดขยายพื้นที่ทำนาปรังมีแนวโน้มสูงมากที่ผลผลิตจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งยังจะส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งอันยาวนาน ซึ่งกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า เพื่อให้วิกฤตปัญหาภัยแล้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นอกจากนี้ พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในปี 2559 ว่า ในปี 2559 จะเป็นปีแห่งการปฏิรูปการเกษตร จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยการสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรเกี่ยวกับการทำการเกษตรผสมผสาน ปศุสัตว์ และประมง ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอละ 1 จุด รวม 882 ศูนย์ สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวเป็นทำเกษตรแปลงใหญ่ ให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ ให้ได้มาตรฐานสากล โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ หรือมีอาชีพเสริม แทนการพึ่งพาการปลูกพืชเฉพาะเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว หากทำตามแผนงานที่สั่งการ เชื่อว่าความเป็นอยู่ของเกษตรกรจะต้องดีขึ้นแน่นอน แต่กว่าจะเห็นผลจะต้องใช้เวลา แต่ก็มีความมั่นใจว่าภายในปี 2560 จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น.