กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 เผยผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ สินค้าข้าว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ชู ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้ผลตอบแทนสูง แนะ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต
นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวตามศักยภาพทางกายภาพและการใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่ง สศท. 7 ได้ดำเนินการศึกษานำร่อง การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ในสินค้าข้าว ของอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งผลการศึกษา พบว่า
พื้นที่ของอำเภอสรรคบุรี ส่วนใหญ่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าวมาก (S1) เท่ากับ 173,956 ไร่ มีการปลูกข้าว 167,208 ไร่ และพื้นที่ความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) รวม 7,965 ไร่ และมีการปลูกข้าวประมาณ 4,227 ไร่ ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางกายภาพและเศรษฐกิจของการผลิตข้าวและพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อย พบว่า
ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 จะให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าข้าวพันธุ์ราชการไม่ไวแสงอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากและน้อยหรือไม่เหมาะสม แม้ว่าจะต้องลงทุนในการผลิตมากกว่าและผลผลิตที่ได้รับจะได้น้อยกว่าก็ตาม โดยในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากจะให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า 394 บาทต่อไร่ และในพื้นที่ที่มีเหมาะสมน้อยให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า 287 บาทต่อไร่ ส่วนการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์จะให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,889 บาทต่อไร่ โดยแนวทางการบริหารจัดการเขตพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในอำเภอสรรคบุรี ควรมุ่งเน้นส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน GAP รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต สำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักที่ได้ผลตอบแทนสูง และใช้เวลาในการปลูกสั้นเพียง 2 เดือน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนและมีรายได้ตลอดทั้งปี
ผลิตเพื่อ พื้นที่เหมาะสมมาก พื้นที่เหมาะสมน้อย ราคาข้าวเปลือก
การบริโภค ที่เกษตรกรขายได้ (บาท/ตัน)
ต้นทุนการผลิต(บาท/ไร่) ผลผลิตต่อไร่ (กิโลกรัม) ผลตอบแทนสุทธิ(บาท/ไร่) ต้นทุนการผลิต(บาท/ไร่) ผลผลิตต่อไร่ (กิโลกรัม) ผลตอบแทนสุทธิ(บาท/ไร่)
พันธุ์ข้าว ปทุมธานี 1 5,093 773 1,742 5,650 770 1,154 8,840
ราชการอื่น(ไม่ไวแสง) 4,815 780 1,348 5,216 770 867 7,900
ผลิตเพื่อ 6,670 820 1,889 10,440
เป็นเมล็ดพันธุ์
ทั้งนี้ ในส่วนของพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อย พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 2,250 บาท ถั่วเขียวผลตอบแทนสุทธิ 1,358 บาทต่อไร่ และการผลิตพืชผักผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 17,612 บาท (ระยะเวลาการปลูก 45 วัน) นางอัญชนา กล่าวทิ้งท้าย