กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนาม MOU ความร่วมมือการเจาะน้ำบาดาลและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับระบบประปาผิวดินในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการผลิตของโรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม และช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน
วันที่ 30 ธันวาคม 2558 เวลา 13.30 น. นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล และนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเจาะและพัฒนาน้ำบาดาล ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุม 205 ชั้น 2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
จากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปริมาณและสัดส่วนความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จำเป็นจะต้องมีการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เป็นแหล่งน้ำเสริมร่วมกับระบบประปาผิวดิน โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจแหล่งน้ำบาดาลและพัฒนาขึ้นมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการกักเก็บน้ำดิบได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ถูกต้องตามหลักวิชาการด้านธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยา สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและนักลงทุน อันเป็นการสนับสนุนความมั่นคงและป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคราชการและภาคอุตสาหกรรมด้านการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอและยั่งยืน และยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนานำมาใช้เป็นแหล่งน้ำเสริมร่วมกับระบบประปาผิวดิน เมื่อเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ และก่อให้เกิดการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต