กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัว เพิ่มขึ้น 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้น 0.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 32.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลง 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น อยู่ที่ 536 แท่น
- คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission) ประกาศให้โควตาการนำเข้าน้ำมันดิบแก่โรงกลั่นเอกชนของจีนเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท Shandong Qingyuan Group, Shandong Hengyuan Petrochemical Co. Ltd. ปริมาณรวม 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2559 ทำให้บริษัทข้างต้นสามารถนำเข้าน้ำมันดิบแทนการใช้น้ำมันเตาในโรงกลั่น
- National Energy Administration (NEA) ของจีนคาดว่าความต้องการใช้พลังงานรวมของประเทศปี 2559 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5% โดยปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีนอยู่ที่ระดับ 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และ กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.47 พันล้านกิโลวัตต์
- Reuters รายงานสภาพอากาศเลวร้ายจากพายุเทอร์นาโดและน้ำท่วมเฉียบพลันทางภาคใต้และภาคตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ ทำให้การลำเลียงน้ำมันดิบด้วยรถบรรทุกสู่จุดส่งมอบน้ำมันดิบ Cushing ในรัฐ Oklahoma ต้องหยุดดำเนินการ (25,000 บาร์เรลต่อวัน - 50,000 บาร์เรลต่อวัน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 487.4 ล้านบาร์เรล
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ธ.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 4,060 สัญญา มาอยู่ที่ 64,706 สัญญา
- กระทรวงการคลังของซาอุดีอาระเบียรายงานว่าประเทศขาดดุลงบประมาณในปี 2558 มูลค่า 3.67 แสนล้าน Riyal (9.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) คิดเป็น 15 % ของเศรษฐกิจ และตั้งเป้าว่าจะขาดดุลงบประมาณลดลงในปีหน้า เหลือ 3.26 แสนล้าน Riyal (8.69 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีแผนลดรายจ่ายลงจาก 9.75 แสนล้าน Riyal (2.60 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) เหลือ 8.40 แสนล้าน Riyal (2.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมุ่งลดการอุดหนุนราคาน้ำ ไฟฟ้าและน้ำมันสำเร็จรูป (Subsidy) และเพิ่มรายได้ด้วยการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าบางชนิด
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน หลังจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียตัดสินประหารชีวิตครูสอนศาสนานิกายชีอะห์ชื่อดัง นาย Nimr al-Nimr พร้อมกับนักโทษอื่น รวมทั้งสิ้น 47 คน ในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านที่เป็นประเทศมุสลิมนิกายชีอะห์ ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเตือนว่าซาอุดีอาระเบียจะต้องชดใช้ อย่างไรก็ตามภาพอุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาดยังคงโดดเด่น อาทิ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ล่าสุดเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตในสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบครั้งแรก ขณะที่การซื้อน้ำมันเพื่อการลงทุนในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงไม่ดึงดูดใจนักลงทุนดังจะเห็นได้จากดัชนี Thomson Reuters CRB Commodities Index ที่ใช้ประเมินมูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดปี 2558 ลดลง 24% โดยมูลค่าน้ำมันดิบ Brent ลดลงมากที่สุด 36% จากปีก่อนสำหรับราคามันดิบในปี 2559 ขึ้นกับมุมมองต่ออุปทานน้ำมัน ที่ล่าสุดมีนักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน 2 แนวทางกล่าวคือ อุปทานน้ำมันดิบเกินความต้องการอยู่ในระดับสูงและกดดันราคาน้ำมัน ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อมั่นว่าการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale oil มีแนวโน้มลดลงเพราะผู้ผลิตในสหรัฐฯ มีหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่รายรับอยู่ในระดับต่ำจะลดปริมาณการผลิต ทำให้สนับสนุนราคาน้ำมัน อีกทั้งปรับสมดุลของตลาดโดยคาดว่าจะเห็นได้ชัดช่วงปลายปี 2559 นี้ ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับ 63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ (ราคาเฉลี่ยปี 2558 ราคา Brent เฉลี่ยอยู่ที่ 53.60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI ปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48.76 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ) ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent , WTI และ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.0-39.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล , 36.2-38.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 32.0-35.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น จากข่าวบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันเบนซินจากสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 850,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 1.87 ล้านบาร์เรล และออกประมูลซื้อในตลาดจรปริมาณ 400,000 บาร์เรล กำหนดส่งมอบเดือน ม. ค. 59 ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 58 ลดลง 906,000 บาร์เรล (6.7 %) มาอยู่ที่ 12.58 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 153.1 ล้านบาร์เรล และ ซาอุดีอาระเบีย ปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในประเทศ โดยน้ำมันเบนซิน 95 RON เพิ่มขึ้น 50% มาอยู่ที่ 0.90 Riyals (0.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อลิตร และน้ำมันเบนซิน 91 RON เพิ่มขึ้น 66.67% มาอยู่ที่ 0.75 Riyal (0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อลิตร และ Sinochem ของจีน ส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่น Quanzhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นครั้งแรก ปริมาณ 323,000 บาร์เรล ไปยังสิงคโปร์ พร้อมทั้งมีแผนที่จะส่งออกน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 8.5 ล้านบาร์เรล ในปี 2559 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.0-57.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าว Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงไหลเข้าสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง เพราะ Arbitrage จากตะวันออกกลางไปยุโรปปิด และอุณหภูมิในญี่ปุ่นช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 59 ไม่หนาวจัด ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นลดลง ทั้งนี้วันหยุดปีใหม่ทำให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลเบาบางผนวกกับ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการขนส่งลดลง และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 58 ลดลง 302,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.38 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินเดียประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 1.06 รูปีต่อลิตร (ประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร) มาอยู่ที่ระดับ 45.03 รูปีต่อลิตร (ประมาณ 24.45 บาทต่อลิตร) และ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 42.0-45.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล