มจธ.พบแพลตฟอร์มรา ผลิตยาชีวภาพต้านมะเร็ง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 5, 2016 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักวิจัย มจธ. ค้นพบ กรรมวิธีสร้างระบบการส่งถ่ายยีน (Fungal Transformation Platform technology) เข้าไปในรา "Aspergillus oryzae" เพื่อผลิตยาทางชีวภาพรายแรกของไทย เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในกระบวนการหมักเพื่อผลิตอาหารอย่าง ซีอิ๊วและเต้าเจี้ยว หรือขนมเทมเป้(ถั่วเน่า)ต่างก็ใช้รา "Aspergillus oryzae" ในการหมักเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ได้คุณภาพ เนื่องจากราดังกล่าวจะมีเอนไซม์เพื่อที่จะช่วยย่อยโปรตีนในถั่วเหลือง ให้เกิดอะมิโนแอซิดตัวเล็กๆ ช่วยย่อยโปรตีนและด้วยความที่ "Aspergillus oryzae" มีความปลอดภัยสูง จึงได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับการนิยม มีการนำศาสตร์ทางด้านอนุพันธุวิศวกรรมมาใช้ ในการนำราชนิดนี้ไปต่อยอดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลาย โดยล่าสุดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ค้นพบ "กรรมวิธีสร้างระบบการส่งถ่ายยีน (Fungal Transformation Platform technology) หรือ กรรมวิธีการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางยา โดยรา "Aspergillus oryzae" ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ไม่ต้องเติมสารอื่นๆ" ได้สำเร็จเป็นรายแรก นายอนุวัฒน์ เตชะฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. เปิดเผยว่า กรรมวิธีการผลิตสารทุติยภูมิในกลุ่มโพลีคีไทด์ เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ไม่สามารถผลิตได้จากกระบวนการทางเคมี ซึ่งโพลีคีไทด์ เป็นสารที่ออกฤทธิ์ทางยา ที่มีประสิทธิภาพในการต้านเซลล์มะเร็ง ซึ่งลำพังเฉพาะตัวระบบหรือแพลตฟอร์มดังกล่าว จะไม่สามารถผลิตสารที่มีคุณประโยชน์ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะต้องมีการนำเอายีนที่ผ่านการศึกษาเชิงลึกแล้วว่ามีคุณสมบัติสามารถผลิตสารบางชนิดดี มีมูลค่าสูง เพื่อนำไปใส่ในแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เพื่อบังคับให้ Aspergillus Oryzae เป็นผู้ผลิตสารอันทรงคุณค่าออกมาเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์ "เราสร้างระบบการส่งถ่ายยีน เข้าไปในเซลล์ของรา "Aspergillus oryzae" ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยยีนที่ส่งเข้าไป จะเป็นยีนที่มีคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีความสามารถในการลดคลอเรสเตอรอล มีกรดอะมิโนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสารต้านมะเร็งเท่านั้น แต่เป็นสารดีๆ ก็สามารถส่งถ่ายเข้าไปในระบบที่เราสร้างขึ้น เพื่อให้ราสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษตามต้องการ และเมื่อนำราสายพันธุ์ใหม่ไปใช้งาน โดยแพลตฟอร์มที่เราวิจัยและพัฒนาขึ้นนี้ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องใส่อะไรให้มัน เพียงแต่ใส่ยีนดีให้เขาทำงานได้ด้วยตัวเอง และเติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องใช้การควบคุมโดยเติมสารต่างๆ ลงไปอีก" ล่าสุดงานวิจัยดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรและอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกร่วมกับ สวทช. ซึ่งนายอนุวัฒน์ ระบุว่า ทางด้านห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพด้านรา สังกัดสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังคงวิจัยเพิ่มเติม เพื่อค้นหายีนใหม่ๆ คุณภาพดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
แท็ก มะเร็ง   พราย   ขนม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ