เอเซอร์ ประเทศไทย ให้ความหมายของคำว่า E-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร

ข่าวทั่วไป Tuesday May 23, 2000 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เอเซอร์ ประเทศไทย
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หมายถึงรูปแบบทางธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการประมวลผลและการส่งผ่านข้อมูลดิจิตอล รวมทั้ง ข้อมูล เสียง และ ภาพเคลื่อนไหว โดยรวมถึงผลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีผลดีต่อองค์กร เช่น การบริการองค์กร การเจรจาทางธุรกิจ การทำนิติกรรมสัญญา การชำระบัญชี รวมทั้งการชำระภาษี เป็นต้น
นิยามของคณะกรรมาธิการยุโรป กว้างขวางครอบคลุมมากที่สุด ดังนี้
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หมายถึงการประมวลผล หรือการผสมผสาน และการโอนข้อมูลในรูปของตัวอักษร เสียงและภาพ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยครอบคลุมกิจกรรมมากมายและหลากหลาย อาทิ การค้าสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจัดส่งข้อมูลทุกประเภทและสาระความรู้ใดๆ ในรูปสัญญาณดิจิตอลโดยผ่านเครือข่ายออนไลน์ การโอนเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ใบขนของอิเล็กทรอนิกส์ การประมูลซื้อขายโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแลกเปลี่ยนและซื้อขายหุ้นโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การร่วมมือกันออกแบบวางแผนเพื่อการผลิต หรือการบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแสวงหาแหล่งสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การตลาดโดยตรงถึงผู้บริโภค การบริการหลังขายโดยเกี่ยวข้องกับสินค้า (เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การแพทย์) และบริการ (เช่น บริการข้อมูล บริการการเงิน) และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดั้งเดิม (เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา) และกิจกรรมใหม่ๆ (ห้างสรรพสินค้าจำลอง)
นิยามของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความหลากหลาย เนื่องจากแต่ละประเทศใช้เกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นเอกเทศของประเทศตน อนึ่ง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีพัฒนาการที่รวดเร็ว การกำหนดนิยามของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องกำหนดให้กว้างขวางเพียงพอที่จะรองรับทิศทางการแข่งขันในอนาคตและเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของประเทศ
ประเภทของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ประเภทของกิจกรรมทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการดำเนินพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้สินค้าประเภทที่ไม่สามารถจับต้องได้ (Intangible Goods) จะเป็นสินค้าและบริการที่สามารถทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาจำหน่ายสินค้า การเจรจาต่อรอง การตกลงทำสัญญาซื้อขาย การชำระเงิน และการส่งสินค้า กิจกรรมที่กล่าวมานี้สามารถดำเนินการได้โดยทางคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างเช่น การจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์, การให้บริการวิดีโอตามสั่ง (Video on Demand), การให้บริการเคเบิลทีวี, การจำหน่ายแผ่นเสียงเพลง (Music Album) การจำหน่ายหนังสือ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่าง ๆ การให้บริการฐานข้อมูล การให้บริการฝึกอบรม (Education and Job Training) การให้บริการธนาคารทางคอมพิวเตอร์ (Home Banking) การให้บริการด้านการรักษาสุขภาพอนามัย (Health Care Service) และ การซื้อขายหุ้นผ่านระบบคอมพิวเตอร์เป็นต้น
สินค้าประเภทที่สามารถจับต้องได้ (Tangible Goods) จริงอยู่สินค้าประเภทนี้แม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรเหมือนที่กล่าวมาในข้อหนึ่งก็ตาม แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าดังกล่าวก็สามารถได้รับประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมากเช่นกัน ไม่ว่ากระบวนการในการโฆษณาสินค้า การเจรจาต่อรอง การทำสัญญาซื้อขายสินค้า การชำระเงิน กระบวนการเหล่านี้สามารถดำเนินการทางคอมพิวเตอร์ซึ่งจะส่งผลให้มีการประหยัดต้นทุนสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รูปแบบของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การทำการค้าบนเว็บนิยมแบ่งรูปแบบตามลักษณะของผู้ค้า และกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ค้าทำธุรกิจด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มดังนี้ คือ
Business-to-Business (B-to-B) เป็นการค้าขนาดใหญ่ระหว่างองค์กรกับองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นสินค้าส่งออกหรือนำเข้าที่ต้องส่งสินค้าเป็นล๊อตขนาดใหญ่ ซึ่งการชำระเงินจะผ่านระบบธนาคาร เช่น T/T, L/C เป็นต้น
Business to Consumer (B-to-C) เป็นการค้าปลีกไปยังผู้บริโภคทั่วโลก หรือ ภายในท้องถิ่นของตน ในส่วนนี้อาจจะรวมการค้าปลีกแบบล๊อตใหญ่หรือเหมาโหล หรือค้าส่งขนาดย่อมไว้ด้วย ซึ่งการชำระเงินโดยส่วนใหญ่จะเป็นการชำระผ่านระบบบัตรเครดิต แต่อย่างไรก็ตาม การค้าแบบ B-to-C นี้ก็มักทำให้เกิดการค้าแบบ B-to-B ในอนาคตได้ และหลายบริษัทฯ มักทำกิจกรรมสองอย่างนี้ในคราวเดียวกัน
Consumer to Consumer (C-to-C) เป็นการค้าปลีกระหว่างบุคคลทั่วไป หรือระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกัน เช่น อาจจะเป็นการขายสินค้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้งานแล้ว รวมทั้งการขายซอฟท์แวร์ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเป็นจำนวนมากทีเดียวที่เปิดเว็บไซต์มาเพื่อขายซอฟท์แวร์ที่ตนเองพัฒนาขึ้นมา ซึ่งผู้พัฒนาอาจเป็นเพียงนักเรียน นักศึกษาเท่านั้น
โครงสร้างและองค์ประกอบของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
องค์ประกอบหลักของระบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เราค้าขายบนเว็บได้นั้น มีดังนี้
เว็บเพจหรือร้านค้าบนเว็บ : ที่เราสามารถจะประกาศขายสินค้าบนระบบอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงหน้าโฆษณาธรรมดาที่เอาไปฝากกับเว็บไซต์อื่นหรือร้านอื่นไว้ หรือมีชื่อหน้าร้านหรือเว็บไซต์เป็นของตนเอง หน้าเว็บเพจสำหรับเสนอขายสินค้าบางทีเรียกว่า “หน้าร้าน” (Store Front) ระบบตะกร้ารับการสั่งซื้อ (Shopping Cart System) : เป็นระบบที่สามารถคลิกเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากหน้าเว็บเพจได้ ซึ่งจะมีช่องให้กรอกจำนวนสินค้าที่สั่งซื้อได้ โดยการคลิกซื้อแต่ละครั้งจะเป็นการหยอดของลงในตะกร้าหรือรถเข็น และสะสมไว้จนกว่าเราจะซื้อของครบ และตัดสินใจให้ระบบแคชเชียร์อัตโนมัติคำนวณเงิน (ระบบตะกร้านี้มีหลายรูปแบบมาก และสามารถปรับหรือออกแบบเฉพาะให้เหมาะกับกิจกรรมการค้าแต่ละสินค้าได้ Secure Payment System : เป็นระบบคำนวณเงินและชำระเงินค่าสินค้าที่ปลอดภัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรับชำระด้วยบัตรเครดิต (ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันเราสามารถรับเงินผ่านเว็บด้วยบัตร Visa, AMEX, Master, SCB และ JCB ได้แล้ว) ซึ่งการถ่ายโอนข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตบนเครือข่ายจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสเพื่อป้องกันการรั่วไหล ระบบที่ใช้กันมากในปัจจุบันก็คือ SSL (Secure Socket Layers) แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีความปลอดภัยมากนัก เพราะไม่สามารถระบุผู้ถือบัตรได้ว่าใช่ตัวจริงหรือไม่ เพราะระบบนี้บอกแค่ว่า ร้านค้านี้คือใคร ดังนั้น จึงมีการพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมาคือ SET (Secure Electronic Transaction) ซึ่งมีการระบุทั้งสองฝ่ายว่าคือตัวจริง แต่ก็ติดปัญหาที่ต้นทุนการลงทุนสูง จึงยังไม่แพร่หลาย
การทำงานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ระบบทั้งหมดนี้จะเป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ คำสั่งซื้อที่ได้จะถูกส่งเข้าเมล์บ็อกซ์หรือตู้จดหมายของเราโดยอัตโนมัติ (หรืออาจเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลก็ได้) รวมทั้งมีการส่งยืนยันไปที่ลูกค้าผู้สั่งซื้อด้วย ในขณะที่ข้อมูลบัตรเครดิตก็สามารถส่งเข้าไปขออนุมัติวงเงินที่สามารถดาวน์โหลดได้เลยก็จะได้เปรียบเพราะลูกค้าสามารถรับมอบสินค้าไปได้เลย ในขณะที่เจ้าของร้านก็จะได้รับเงินเข้าบัญชีไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่พร้อมที่จะต่อเชื่อมเป็นระบบอัตโนมัติ (ซึ่งอาจจะเนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายสูง) ก็อาจจะให้ส่งเข้ามาที่ตู้รับจดหมายของเราก่อน แล้วค่อยโทรขออนุมัติวงเงินภายหลังได้
ใครคือลูกค้าบน e-Commerce
ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ททั่วโลกประมาณ 288 ล้านคน การพัฒนาเวปไซต์สามารถแบ่งได้ดังนี้
51.30 % ของเวปไซต์ถูกพัฒนาเป็นภาษาอังกฤษ 31.80 % ของเวปไซต์ถูกพัฒนาเป็นภาษาอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป 16.90 % ของเวปไซต์ถูกพัฒนาเป็นภาษาอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเอเซีย มูลค่าของการทำธุรกรรมบนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2000 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 233 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยแบ่งออกเป็น
69.0 % เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา 31.0 % เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นจากภูมิภาคอื่นๆ ข้อดีของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นการค้าที่ไม่มีพรมแดน ไปถึงคนทั่วโลก ร้านค้าเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 365 วัน สามารถที่จะติดต่อได้โดยตรงกับลูกค้า การลงทุนในกิจการค้าออนไลน์ สามารถเปิดได้จริงในการลงทุนที่ต่ำกว่า เปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆ สำหรับบริษัทขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร, การจัดส่งรายละเอียดสินค้า รวมถึง การชำระเงิน ฯลฯ สมาชิกสร้างกลุ่มลูกค้าที่มีการซื้อต่อเนื่องได้ หากมีการวางแผนการตลาดที่ดี อุปสรรคของของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเทศไทย
ยังไม่มีหน่วยงานที่เรียกว่า องค์กรรับรอง (Certification Authority : CA) ซึ่งทำหน้าที่ในการรับรองว่าคู่สัญญานั้นเป็นบุคคลหรือองค์กรตามที่กล่าวอ้างจริง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ให้บริการรับรองในเชิงธุรกิจ อัตราค่าบริการอินเตอร์เน็ทยังคงสูงอยู่ การบริการรับส่งพัสดุของไทย ยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ, ราคา และการบริการ มีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เด่นชัด เช่น การคืนสินค้าในระยะเวลาที่กำหนด ฯลฯ พัฒนาความรู้ความเข้าใจของหน่วยงานรัฐบาลและบุคลากรของรัฐ ความชัดเจนในด้านภาษีอากรและศุลกากรของการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความเร่งด่วนในการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันร่างกฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่างพระราชบัญญัติลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วรอการอนุมัติจากสภาฯ แต่ร่างอื่นๆ อีก 4 ฉบับ ยังอยู่ในระหว่างการยกร่าง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Acer Computer Co., Ltd.
Tel: 662-682-9100 Fax: 662-682-9155
http://www.acer.co.th
ath_webmaster@acer.co.th-- จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ