กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" โชว์ความเป็นผู้นำองค์กรต้นแบบลดโลกร้อน และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดัน "โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน" (CPF's Product Sustainability) ดูแลห่วงโซ่การผลิตสีเขียวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามหลักประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle Assessment) เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์จนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทุกมิติสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า นอกจากจะได้บริโภคสินค้าที่มีคุณค่า คุณภาพ ความปลอดภัยแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า "โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน" (CPF's Product Sustainability) ได้นำหลักประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle Assessment) มาใช้ตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ด้วยเล็งเห็นว่าทุกวันนี้องค์กรชั้นนำทั่วโลกต่างตระหนักต่อภาวะโลกร้อน และมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จากผลการดำเนินงานโครงการฯดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์ "ไก่สด" และ "ไก่ปรุงสุก" ของซีพีเอฟได้รับการรับรองให้เป็น "ผลิตภัณฑ์ไก่ที่ยั่งยืนรายแรกของโลก" จาก Det Norske Veritas (DNV-GL) องค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลกต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปัจจุบัน ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์ไก่ยั่งยืนครอบคลุมกว่า 700 รายการ แบ่งเป็นไก่สดที่ขายในประเทศ 430 รายการ และไก่ปรุงสุกที่ส่งออกไปตลาดยุโรป 270 รายการ คิดเป็นมูลค่าส่งออกในตลาดยุโรปกว่า 7,000 ล้านบาท นับเป็นผลจากการค้นคว้าและพัฒนาสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงภายใต้สวัสดิภาพสัตว์ที่ดี การแปรรูปเนื้อสัตว์ การบริโภค และการจัดการของเสีย โดยนำหลักการประเมินประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Efficiency Analysis) มาใช้เพื่อมุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
"หลังนำหลัก Eco-Efficiency Analysis มาประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์ไก่ยั่งยืนซีพีเอฟ โดย บริษัททียูวี ไรน์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ตรวจสอบและให้การรับรองระดับโลก จากประเทศเยอรมนีแสดงข้อมูลปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบปี 2551 สามารถวิเคราะห์ไก่สด 1 กิโลกรัม พบว่า การใช้พลังงานลดลง 11%, การปล่อยมลพิษลดลง 8%, การก่อให้เกิดความเป็นพิษลดลง 10%, อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานลดลง 4%, การใช้ทรัพยากรลดลง 8% และการใช้ที่ดินลดลง 14% " นางสาวกุหลาบ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า โดยมีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพลดปริมาณของเสียในทุกกระบวนการผลิต เนื่องจากขยะที่เกิดขึ้นมีผลกระทบโดยตรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟจึงนำเอา "ของเสียมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน" เพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ก้าวสู่ธุรกิจแบบ Circular Business Model ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรกลับมาเป็นพลังงานชีวมวลใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไอน้ำในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ มูลสัตว์จากฟาร์มนำกลับมาเป็นปุ๋ยในแปลงเพาะปลูก น้ำเสียจากฟาร์ม และโรงงานแปรรูป ได้รับการบำบัดและนำกลับมาเป็นพลังงานไบโอแก๊ส ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกทั้งยังลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย ซีพีเอฟใช้น้ำมันพืชใหม่ คุณภาพดี ในการทอด เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้จะนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ใช้ในการขนส่ง ตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อสังคมที่ดีสุขภาพดี
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ในโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหาร การขนส่ง และการกำจัดซาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ ได้รับการรับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถึง 147 รายการ และมี 2 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ "ฉลากลดโลกร้อน" ได้แก่ เนื้อไก่สดซีพี และ เกี๊ยวกุ้งซีพี แสดงถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นั้นๆได้ตามเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งฉลากลดโลกร้อนของเนื้อไก่สดซีพีมีค่าเฉลี่ยที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์น้อยกว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ของไทยถึง 50% ส่วนผลิตภัณฑ์ เกี๊ยวกุ้งซีพี นับเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับฉลากดังกล่าว ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 23% ดังนั้นสัญลักษณ์ "ฉลากลดโลกร้อน" นับเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทยไปจำหน่ายยังทั่วโลก
ในปี 2559 ซีพีเอฟวางแผนเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ยั่งยืนให้มากขึ้นในผลิตภัณฑ์กุ้ง และหมูครอบคลุมสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มสินค้าที่ได้ฉลากลดโลกร้อน และให้ความสำคัญกับการขาดแคลนน้ำด้วยวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสังคม นอกจากนี้ ยังมีแผนการติดตั้งระบบการตรวสอบย้อนกลับแบบออนไลน์ (Online Traceability) ในผลิตภัณฑ์กุ้งและหมูภายในปี 2560