กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--เนคเทค
อินเทลพร้อมให้การสนับสนุนเข้าร่วมการประกวดระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ประกาศผลการตัดสินการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกในงานประกวดทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล (Intel International Science and Engineering Fair, Intel ISEF) ครั้งที่ 51 ที่สหรัฐอเมริกา การประกวดรอบชิงชนะเลิศและพิธีมอบรางวัลได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 มีนาคม 2543 ณ ศูนย์การค้าซีคอน สแควร์ ถนนศรีนครินทร์ โดยมี ฯพณฯ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่นักเรียนที่ชนะการแข่งขัน
ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดดังกล่าว ได้แก่ โครงงานเทคนิคการคำนวณหาพื้นผิวที่สามารถมองเห็นได้ของมุมมองที่เคลื่อนที่สำหรับซอฟต์แวร์ 3 มิติ เพื่อเพิ่มความเร็วในการแสดงผล พัฒนาโดย นายณัฐพงศ์ ชินธเนศ อาจารย์ที่ปรึกษา อ. ชัยศักดิ์ ชั่งใจ จากโรงเรียนสาธิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับทุนการศึกษาเป็นจำนวน 50,000 บาท และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันงานประกวดทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล (Intel ISEF) ครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2543 ณ เมืองดีทรอยต์ มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาด้วย
ส่วนรางวัลที่ 2 ได้แก่ โครงงาน พอร์ตพริ้นเตอร์กับการควบคุม พัฒนาโดย นายวิฑูรย์ อรุณสิงคะ อาจารย์ที่ปรึกษา อ. ประเสริฐ ทรัพย์มาก จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม ได้รับทุนการศึกษาเป็นจำนวน 40,000 บาท และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF ด้วยเช่นกัน
รางวัลที่ 3 มี 3 รางวัล ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่
1. โครงงานโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์และแก้ไขสัญญาณในช่วงความถี่เสียง พัฒนาโดย นายณฤทธิ์ บุญให้เจริญ อาจารย์ที่ปรึกษา อ. อัมรินทร์ อำพลพงษ์ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ
2. โครงงานโปรแกรมการสร้างภาพ 3 มิติ พัฒนาโดยนายนพพร ด่านชัยนาม อาจารย์ที่ปรึกษา อ. ทวี สีวิจี๋ จากโรงเรียนจักรคำคณาธร จังหวัดลำพูน
3. โครงงานการสร้างโปรแกรมรหัสแน็ปแสค โดยใช้ภาษา JAVASCRIPT พัฒนาโดย นายบุญรอด ยุทธานันท์ อาจารย์ที่ปรึกษา อ. อำนาจ มณีดุลย์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา
ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และประธานการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์กล่าวว่า "การจัดประกวดที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผลงานที่ส่งเข้าประกวดล้วนแต่มีคุณภาพสูง บางผลงานของนักเรียนระดับมัธยมปลายทำได้เทียบเท่ากับระดับมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีพัฒนาการในความรู้และความคิดสร้างสรรค์ทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น นักเรียนผู้ชนะเลิศของโครงการฯ ยังจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมในการประกวด Intel ISEF ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์อีกด้วย สำหรับในปีนี้ นักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของการแข่งขันในปีที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าผลงานชิ้นใหม่ของนายณัฐพงศ์ในปีนี้ มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ จึงสมควรเป็น
อย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศสำหรับปีนี้ และจากประสบการณ์การเข้าร่วมการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ เมื่อปีที่ผ่านมา จะช่วยให้นายณัฐพงศ์ สามารถปรับปรุงผลงานของตนให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำ และถ่ายทอดประสบการณ์ แก่เพื่อนที่ได้รับรางวัลที่ 2 ที่จะร่วมเดินทางไปแข่งขันในปีนี้ด้วย"
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "อินเทลขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน อินเทลมีนโยบายหลักในการให้การ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด การที่นักเรียนตัวแทนประเทศไทยจะได้เดินทางไปร่วมการประกวด Intel ISEF ที่สหรัฐอเมริกา จะเป็นโอกาสที่มีค่ายิ่งที่จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนนานาชาติ นอกจากนี้ยังจะได้รับ คำแนะนำเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งบางท่านก็เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบิลมาแล้วด้วย"
การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล (Intel International Science and Engineering Fair, Intel ISEF) เป็นการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งนับเป็นเวทีชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีความสามารถเยี่ยมยอดกว่า 1,500 คน จากประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก งาน Intel ISEF นี้นับเป็นการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติสำหรับ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถึง 6 เพียงรายการเดียวของโลกที่ครอบคลุมวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ มากที่สุด งานประกวด ISEF มีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และได้ครบปีที่ 50 ในปี พ.ศ. 2542 ที่ผ่านมา องค์กรที่เป็นผู้จัดประกวดได้แก่ Science Service ซึ่งเป็นองค์กรที่มิได้มุ่งเน้นผลกำไร มีการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี องค์กร Science Service ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในด้านวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนในทุกระดับอายุ ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมด้านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมด้านการศึกษา--จบ--