กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กรมการค้าภายใน
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เดินเครื่องสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากหนุนโครงการสามพรานโมเดล ยกระดับตลาดสุขใจ เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนอินทรีย์พร้อมหนุนการเชื่อมต่อเครือข่าย เล็งพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ส่งออก
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ นายชัยภัค สุนทรหงส์ ปลัดจังหวัดนครปฐม และนายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนอินทรีย์ (Farm Outlet) ในพื้นที่ตลาดสุขใจ ใน สวนสามพราน อ. สามพราน จ.นครปฐม
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐร่วมบูรณาการภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรมีการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ตรงตามความต้องการของตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด อันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมากรมการค้าภายใน ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) จำนวน 29 แห่ง ใน 19 จังหวัด สำหรับศูนย์ จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนเกษตรอินทรีย์ (ศูนย์ตลาดสุขใจ) ศูนย์นี้นับเป็นศูนย์ที่ 3 ซึ่งกรมการค้าภายใน พร้อมและยินดีที่จะประสานการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดนครปฐม และโครงการสามพรานโมเดล ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ แบบยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
"ศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนอินทรีย์พื้นที่ตลาดสุขใจ ถือเป็นตลาดที่ 3 ของสินค้าอินทรีย์ ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนอินทรีย์แล้วใน จ.กาญจนบุรี จ.ลพบุรี ซึ่งเรามุ่งให้แต่ละศูนย์มีการเชื่อมต่อระหว่างกัน เกิดการแลกเปลี่ยนและกระจายสินค้าอินทรีย์ระหว่างศูนย์ ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ยังมีนโยบายที่จะนำสินค้าอินทรีย์ไปแปรรูปเพื่อการส่งออกต่อไปด้วย สำหรับศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนเกษตรอินทรีย์ (ศูนย์ตลาดสุขใจ) นับเป็นศูนย์ที่มีศักยภาพมาก ด้วยมีการดำเนินงานอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นระบบและต่อเนื่อง มีฐานกลุ่มลูกค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ซึ่งการส่งเสริมให้เปิดศูนย์ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก สินค้าอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี"
ด้านนายชัยภัค สุนทรหงส์ ปลัดจังหวัดนครปฐมกล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด ยกเลิกการเพาะปลูกโดยใช้สารเคมี และหันมาปลูกเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีทั้งผักและผลไม้ ข้าว ไข่ จำนวนมากขึ้น โดยทางจังหวัดนครปฐมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรจังหวัดนครปฐม ดำเนินการศึกษาและวางแนวทางในการพัฒนาเกษตรกร ให้หันมาผลิตพืชโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริมการการยกระดับเกษตรกร
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขานุการ มูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า การเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนอินทรีย์ ในพื้นที่ของตลาดสุขใจ ภายใต้การสนับสนุนของกรมการค้าภายใน จะเกิดผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกร ซึ่งจากเดิมผู้บริโภค จะมาซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เพียงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะสามารถมาซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปบริโภคได้ทุกวัน ขณะที่เกษตรกรก็มีแหล่งกระจายสินค้ามากขึ้น
"ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา โครงการสามพรานโมเดล ได้เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ออกไปในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ในจังหวัดนครปฐม ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิชาการ และภาครัฐ เราได้มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสริมสร้างกำลังใจ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนา ไปทีละขั้น สู่การได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM แล้วจำนวนกว่ายี่สิบราย
ปัจจุบันฐานเกษตรกรอินทรีย์ในโครงการสามพรานโมเดลมี 9 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกเกษตรกร 100 กว่าราย โดยในภาพรวมจะพบว่ายังมีความสามารถที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนพื้นที่ยังใช้ไม่ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นการที่มีศูนย์กระจายสินค้าอินทรีย์จะช่วยลดปัญหาคอขวดระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก"
เลขานุการ มูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า การสนับสนุนของกรมการค้าภายใน จะทำให้เรามีงบประมาณเพื่อการปรับปรุงสถานที่ จัดทำชั้นวางสินค้า การพัฒนาหีบห่อต่างๆ และช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักโครงการสามพรานโมเดล ตลาดสุขใจ และสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดสุขใจ มีหลากหลาย แต่หลักๆ ก็คือ ข้าว ผัก ผลไม้ ไข่ และในอนาคตจะมีหมูอินทรีย์ ซึ่งเลี้ยงหมูด้วยสมุนไพร อาหารทะเลจากประมงชายฝั่ง รวมถึงข้าวจากเกษตรกรที่ทำอินทรีย์นอกพื้นที่จ.นครปฐม เช่น จาก จ.อำนาจเจริญ และ จ.สุรินทร์ โดยจากการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กระจายและจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา จากการจัดงานวันสังคมสุขใจ ก็ได้รับความสนใจจากเครือข่ายอินทรีย์ในหลายจังหวัดมาร่วมงานด้วย เช่นเครือข่ายจาก แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตนมวัวออแกนิกส์ รายเดียวในประเทศไทย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ฉายา เจ้าชายผัก เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง และพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ เหล่านี้เป็นต้น
นายอรุษกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเสริมประสิทธิภาพของตลาดสุขใจได้ดีขึ้น คือระบบออนไลน์ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ระบบนี้จะช่วยให้ลูกค้าเห็นสินค้า สามารถล่วงรู้ถึงผลผลิตที่จะมีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบสินค้าได้ถึงแหล่งผลิต ได้ทราบว่าผัก ผลไม้มาจากเกษตรกรกลุ่มไหน ระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ารายใหญ่ เช่นโรงแรม ร้านอาหารได้รู้ว่า จะสามารถนำวัตถุดิบที่จะออกในสัปดาห์หน้าหรือเดือนหน้าไปปรุงเมนูต่างๆ ได้ สามารถจองสินค้ากับเกษตรกรล่วงหน้าได้ โดยมีการตกลงราคากันระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อเอง ซึ่งผู้ประกอบการต้องสื่อสารกับลูกค้าว่า สินค้าอินทรีย์ต้องบริโภคตามฤดูกาล บริโภคตามที่เกษตรกรปลูก อย่างน้อยร้านอาหารจะได้วางแผน ขณะเดียวกันได้ช่วยเกษตรกรให้ล่วงรู้ตลาดว่าในช่วงนี้ผู้บริโภคต้องการสินค้าชนิดใด
"เมื่อมีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้า ทางผู้ปลูกเองสามารถรู้ต้นทุนตัวเอง โดยที่โครงการสามพรานโมเดลจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการกำหนดราคา แต่จะช่วยวางระบบการบริหารจัดการให้ เวลานัดเจอกันก็มาเจอที่ตลาดสุขใจ เพราะเมื่อก่อนผู้ซื้อต้องเดินทางไปตามสวน ซึ่งไม่สะดวก และยังทำให้ควบคุมมาตรฐานได้ไม่เต็มที่ หากมาเจอตรงนี้โครงการมีระบบรองรับ เท่ากับสร้างมั่นใจให้กับลูกค้าด้วย"
ด้าน นางประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรอินทรีย์บางช้าง กล่าว "ดีใจที่ตลาดสุขใจจะเปิดทุกวัน ซึ่งในส่วนของเกษตรกรจะทำการพัฒนาผลผลิตอย่างดีที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคได้พืชผักปลอดภัย ซึ่งสำหรับเรา ทุกวันนี้มีความสุขมาก ที่ได้มีโอกาส ถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม ได้มีโอกาสได้ทำกุศลที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการผลิตอาหารอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค"
ขณะที่นาย วัลลภ จาตุรัตน์ เกษตรอินทรีย์คลองบางแก้ว กล่าวว่า "คนเริ่มเห็นสิ่งที่เราทำ สนใจอยากมาเรียนรู้ แต่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง เราจึงชักชวนกันมารวมกลุ่มทำด้วยกัน ผมอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี วันนี้ผมมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยากมีเวลายาวขึ้นในการค้นหาความสุข ได้อยู่กับวิถีเกษตรอินทรีย์ "
สำหรับผู้ที่ต้องการเชื่อมโยง ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างมีส่วนร่วม หรือทำกิจกรรมร่วมกับโครงการสามพรานโมเดล ตลอดจนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับตลาดสุขใจ สามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ คุณสุทิศ จิราวุฒิพงศ์ 081-668-2165 คุณชฤทธิพร เม้งเกร็ด 081-854-0880 หรือ คลิ๊กดูข้อมูลได้ที่www.sampranmodel.com หรือ Facebook/Sampranmodel