กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ว่า กรณีปัญหาราคายางพาราที่เกษตรกรชาวสวนยางยังประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการตรวจสอบราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 34-36 บาท อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคายางตกลงมาระยะหนึ่งแล้ว และการที่ราคายางพาราในประเทศตกต่ำนั้น แปรผันตามราคายางพาราทั่วโลกที่ลดลง รวมถึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด โดยล่าสุดได้มอบหมายให้นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะและหารือร่วมกับเกษตรกรชาวสวนยาง เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของชาวสวนยางภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำมาพิจารณากำหนดเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำนักธุรกิจเดินทางไปยังประเทศอินเดียและรัสเซีย เพื่อหาช่องทางการระบายยางพาราในสต๊อก รวมถึงเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศ โดยให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการการใช้ยางพารากับโครงการต่างๆของทั้ง 2 กระทรวง เพื่อให้ช่วยลดปริมาณยางในระบบ
ส่วนกรณีที่เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้ออก 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนให้ชาวสวนยางมีอาชีพเสริมผ่านการปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติม
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำและภัยแล้งขณะนี้ว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(5 ม.ค. 59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,499 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 4.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.60 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือรวมกัน จำนวน 3,803 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย. 58 – 30 มิ.ย. 59)
สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(5 ม.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,011 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ตามแผนฯในฤดูแล้งนี้อีกประมาณ 1,889 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี)
ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,636,000 ไร่ ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ค้างในพื้นที่หลังหมดฤดูฝน ได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการปลูกข้าวนาปรังอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต หากยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย
ในส่วนของผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 30 ธ.ค. 58) ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 57,548 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 746.22 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 15,924 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 3,081 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 38,543 คน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งขณะนี้นั้นมีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยในส่วนของมาตรการที่ 1 ในการแจกปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสดเกษตรกร เป้าหมาย 385,958 ราย งบประมาณ 971.98 ล้านบาท การแจกปัจจัยการผลิต (ปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสด) มีความคืบหน้าตามลำดับโดยผลการดำเนินงานในส่วนของพืชไร่ ได้แก่ ถั่วเหลือง/ถั่วเขียว/ถั่วลิสง 140.22 ตัน เกษตรกร 5,021 ราย ซึ่งจะให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 ม.ค. 59 และมาตรการที่ 4 ในส่วนแรก โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย/ใช้ความชื้นในดิน เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 58 กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนเงินให้ 22 จังหวัด 57 อำเภอ 129 ตำบล 159 โครงการ งบประมาณ 153.02 ล้านบาท เกษตรกรจะดำเนินการใน ม.ค. 59 แต่ยอมรับว่าหลายเรื่องยังติดขัดเรื่องกระบวนการจัดหา และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจจะทำให้การเพาะปลูกไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศ และความชื้นในดิน ดังนั้น จะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความชื้นในดินเพื่อลดความเสียหาย