กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--ศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดความรู้เบื้องต้น และสาธิต ผลิตโอ่งซีเมนต์ แก่เกษตรกรชาวน่าน ในโครงการ "น้ำสะอาดเพื่อชีวิต" สำหรับใช้เก็บน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค และ การเกษตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ โอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา ศูนย์ปฏิบัติการเกษตรพอเพียง บ้านวังตาว ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ดร.สุพิณ แสงสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ "น้ำสะอาดเพื่อชีวิต" เกิดขึ้นเนื่องจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญ ของน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานประการสำคัญอย่างหนึ่งของทุกชีวิตในการดำรงชีพทั้งของมนุษย์ พืช และสัตว์ เพื่อการบริโภคและการเกษตรดังนั้นการสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รูปแบบของการเก็บน้ำเป็นไปได้หลายวิธี อาทิ การขุดสระ การเก็บน้ำด้วยถังน้ำที่ทำด้วยวัสดุชนิดต่างๆ ได้แก่ ถังน้ำสเตนเลส ถังน้ำพลาสติก นอกจากนี้ยังมีการเก็บน้ำด้วยการใช้ท่อซีเมนต์ต่อกันจนได้ความสูงที่ต้องการและโบกปูนตามรอยต่อของท่อซีเมนต์แต่ละช่วง ทำให้ได้เป็นที่เก็บน้ำแบบหนึ่ง ส่วนการเก็บน้ำด้วยโอ่งดินเผา เช่น โอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรี เป็นอีกวิธีการหนึ่งสำหรับการเก็บน้ำเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีตและมักพบได้ในพื้นที่ภาคกลางเนื่องจากใกล้แหล่งผลิตและง่ายต่อการขนส่ง อย่างไรก็ตามการเก็บน้ำในแต่ละวิธีการมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของราคา ความคงทน ปริมาณในการบรรจุน้ำ การขนส่งและความเหมาะสมของพื้นที่
การเก็บน้ำด้วยโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากโอ่งซีเมนต์เป็นภาชนะบรรจุน้ำที่มีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาชนะบรรจุน้ำที่ทำจากวัสดุอื่นไม่ว่าจะเป็นสเตนเลส สติล หรือพลาสติก สำหรับวัสดุและอุปกรณ์ในการผลิตโอ่งซีเมนต์นั้น ได้แก่ หินฝุ่นจากโรงโม่หิน ปูนซีเมนต์ ดินเหนียว แบบบล็อกซีเมนต์ส่วนขั้นตอนในการผลิตโอ่งซีเมนต์เริ่มจากการทำพื้นโอ่งด้วยซีเมนต์ การวางพื้นโอ่งซีเมนต์ที่สำเร็จแล้วลงบนพื้นที่โรยด้วยหินฝุ่น จากนั้นจึงวางแบบบล็อกซีเมนต์เป็นชั้นจนครบ 10 ชั้น ก่อนฉาบด้วยดินเหนียวทับลงบนบล็อกซีเมนต์ ขั้นตอนต่อมาเป็นการโบกซีเมนต์ผสมหินฝุ่นทับลงบนผิวของชั้นดินเหนียว ฉาบซีเมนต์ในส่วนที่เป็นขอบโอ่งและเจาะทางน้ำเข้าและทางน้ำออกบริเวณด้านล่างของโอ่ง ทิ้งโอ่งซีเมนต์ที่ฉาบแล้วให้แห้งเป็นเวลา 1 คืน ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการถอดบล็อกซีเมนต์ออกจากโอ่ง
โอ่งซีเมนต์ที่ผลิตได้จากกิจกรรมในครั้งนี้เป็นโอ่งที่มีความจุประมาณ 1800 ลิตร ผลิตเป็นจำนวน 60 ใบ ผลิตโดยช่างผู้ชำนาญจากจังหวัดพะเยา มีผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นเกษตรกรและผู้สนใจ จำนวนทั้งสิ้น 14 คน จากพื้นที่ต่างๆของจังหวัดน่าน จากผลการอบรมพบว่า ผู้เข้าร่วมอบรมสนใจทั้งในส่วนของการผลิตโอ่งด้วยตนเองและการใช้โอ่งเพื่อการเก็บน้ำ โดยผู้เข้าร่วมอบรมบางส่วนพยายามฝึกฝนการผลิตโอ่งระหว่างการสาธิตโดยผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองจัดวางบล็อกซีเมนต์ด้วยตนเอง แต่เนื่องจากการวางบล็อกซีเมนต์เป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญมาก ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมยังไม่สามารถจัดวางบล็อกซีเมนต์ได้จนถึง 10 ชั้น อย่างไรก็ตามสำนักวิชาได้จัดซื้อบล็อกซีเมนต์ไว้แล้ว จำนวน 5 ชุด เพื่อให้ผู้ที่สนใจในการทำโอ่งซีเมนต์ด้วยตนเองสามารถยืมบล็อกซีเมนต์ไปใช้เพื่อการการฝึกฝนและการผลิตโอ่งได้ และนอกจากนี้หากผู้เข้าร่วมอบรมมีความชำนาญในการผลิตโอ่งก็สามารถรับผลิตโอ่งเพื่อให้เกิดเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย
จากผลการจัดการอบรมในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในระดับชุมชน โดยมีศูนย์ปฏิบัติการเกษตรพอเพียง บ้านวังตาว เป็นต้นแบบในการเก็บน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆของศูนย์ฯ อ.ดร.สุพิณ แสงสุข กล่าว