กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวในฐานะประธานในพิธีเปิดงานเทศกาล "ชิมชาวาวี-รสดีกาแฟดอยช้าง ประจำปี 2558" ว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคม และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเผยแพร่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เข็มแข็งด้วยวัฒนธรรม และนำวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจึงได้ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลวาวี และองค์การบริหารส่วนตำบลวาวี จัดเทศกาลชิมชาวาวี-รสดีกาแฟดอยช้าง ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2558 ที่ลานวัฒนธรรมบ้านวาวี ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งจัดครั้งนี้ถือเป็นการจัดครั้งที่ 29 โดยครั้งแรกจัดเมื่อปี พ.ศ.2529 จากการสนับสนุนของโครงการพัฒนาที่สูงไทย-เยอรมัน ต่อมาสภาวัฒนธรรมตำบลวาวีเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานจนถึงปัจจุบัน "เทศกาลชิมชาวาวี" นับว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ซึ่งเป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวรู้จักและนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี ซึ่งสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของทุกภาคส่วน และอนุรักษ์วัฒนธรรมการดื่มชา-กาแฟ และวัฒนธรรมการดำรงชีพของชนเผ่า ในจังหวัดเชียงราย จำนวน 8 ชาติพันธุ์ ได้แก่ ปกากะญอ ลาหู่ อาข่า เมี่ยน ไทใหญ่ จีนยูนาน ลีซอ และไทยยวน ทั้งนี้ ชาววาวี อาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทางศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคีกัน คนในพื้นที่ ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญในการใช้มิติวัฒนธรรมเหล่านี้มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย และพื้นที่อื่นๆ ด้วย
ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า ภายในการจัดเทศกาลชิมชาวาวี-กาแฟดอยช้าง วธ. ได้ส่งเสริมกิจกรรมการแสดงวิถีชีวิตชนเผ่า บ้านจำลองวัฒนธรรมชนเผ่า อุปกรณ์และเครื่องเล่นชนเผ่า รวมถึงการออกร้านนิทรรศการชา-กาแฟ ตลอดการจัดเทศกาลด้วย ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับการส่งเสริมความเป็นไทย เพื่อเสริมสร้างความเป็นไทยสู่ประชาชน ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศทั่วโลก ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในแหล่งศิลปวัฒนธรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความเป็นไทย นอกจากนี้ ยังมีการประกวดธิดาชา-กาแฟ การแข่งขันกีฬา การแสดงของนักเรียนในพื้นที่ และการเสวนาทางวิชาการเรื่องชา-กาแฟ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงรายที่เป็นเสน่ห์ในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวยังเทศกาลชิมชาวาวีอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ต่อประเทศต่อไปได้
ที่สำคัญ วธ. ได้พัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมที่ เรียกว่า " ฝากไทย" ซึ่งเป็นของฝากทางวัฒนธรรมจากการผสมผสานเอกลักษณ์เฉพาะกับความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน โดยเน้นความหลากหลายที่สร้างขึ้น จากแรงบันดาลใจสู่สิ่งที่แทนความรู้สึกแสนประทับใจของผู้มาเยือน สื่อความหมายความรู้สึกไปยังผู้ที่ได้รับ ทั้งนี้ ยังเชื่อมโยงการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการท่องเที่ยว และการสื่อสารความหมายที่แฝงไปด้วยปรัชญาความเชื่อ แนวคิด วิถีชีวิต ที่ถูกแฝงไว้ในนั้นด้วย โดยจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดนำร่องโครงการศูนย์บันดาลไทยอยู่ในขณะนี้ โดยมีของฝากอาข่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการนำทุนทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์มาพัฒนาด้วย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสินค้าที่เป็นของใช้ของกินหรือสินค้าชนิดอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ เครื่องประดับที่มีลวดลาย อาข่า หรือลวดลายต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของเสื้อยึด หมวก หรือ ผ้าพันคอ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องวิเคราะห์ก่อนว่าจะสามารถสร้างสรรค์ได้แค่ไหน ซึ่งเป็นบทบาทภารกิจของศูนย์บันดาลไทยในการพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมโดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นให้เป็นของฝากระดับพรีเมียม เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนรากฐานทุนทางวัฒนธรรม