กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--แอบโซลูทพีอาร์
ในทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันสังคมเริ่มมีความสลับซับซ้อนทำให้ต้องมีการพูดถึงคำว่า "วิจารณญาณ" มากยิ่งขึ้น เยาวชนไทย คือ กลุ่มคนปลายน้ำที่มักได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในสังคมเสมอ ๆ ยังมีเด็กไทยอีกมากที่ต้องฝ่ากระแสสื่อที่ถาโถม แล้วโยนความรับผิดชอบให้กับวิจารณญาณของพวกเขา เมื่อเครื่องมือในการเปิดประตูสู่โลกไซเบอร์ไม่ได้มาพร้อมกับความรู้เท่าทัน ปัญหาสารพัดจึงพ่วงมาด้วยมากมาย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ กิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) (สำหรับเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 12 คน และมัธยมศึกษา จำนวน 14 คน รวม 26 คน) จากโครงการยกย่องเยาวชนต้นแบบเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งคัดเลือกเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน รวมทั้งสิ้น 277 คน เพื่อเป็นการยกย่องเด็กและเยาวชนต้นแบบดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม
สุรางคณา วายุภาพ ในฐานะรองประธาน คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์และเตรียมการจัดงานยกย่องเยาวชนต้นแบบเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า "เวลานี้คนไทยท่องเน็ตมากขึ้น และจากผลสำรวจของ ETDA เองพบว่า Gen Y (อายุ 15-30ปี) เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต จึงมีนัยสำคัญ สื่อออนไลน์บ้านเรากำลังได้รับการจับตามอง เพราะสื่อมีทั้งลบและบวก และสอดแทรกความรุนแรงต่าง ๆ ไว้ หากเด็ก ๆ ไม่สามารถแยกแยะได้ก็จะตกเป็นเหยื่อในเรื่องดังกล่าว ETDA จึงให้ความสำคัญเรื่องรู้เท่าทันสื่อกับเด็กโดยเฉพาะในช่วงประถมฯ และมัธยมฯ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง การหล่อหลอมแนวคิดที่ถูกต้องต่อเด็กวัยนี้จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งค่ะ"
สำหรับกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องภัยและการป้องกันภัยจากไอซีที ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA และ อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งวิทยากรทั้งสองได้ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ของน้อง ๆ ดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา
ดร.รัฐศาสตร์ กล่าวว่า "โดยลักษณะของสื่ออินเทอร์เน็ต คือ รวดเร็วและไร้พรมแดน ทำให้ยากที่จะควบคุมดูแล ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และยูทูบ โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ใช้งานรับทราบถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก และเพราะความไม่รู้เท่าทันทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กๆ อาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตแล้วลืมล็อกเอาต์ การรับเพื่อนใหม่แบบไม่มีการกลั่นกรอง การแชร์และไลค์ข้อมูล ทั้งที่เป็นเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง เราจึงต้องปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อพวกนี้ให้เขาเข้าใจ เวลาเด็ก ๆ เขียนหรือโพสต์อะไรลงไปในโลกออนไลน์ บางเรื่องจะมีคนเข้ามาอ่านจำนวนมากและแชร์ต่อ ๆ กันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการจะโพสต์ภาพ ใส่ข้อความทุกครั้ง ก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงคนอื่น เพราะปัจจุบันมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งหากเราใช้งานไม่เหมาะสมก็อาจจะมีโทษตามกฎหมายได้โดยไม่รู้ตัว"
ด.ช. เกียรติศักดิ์ เอี่ยมละออง โรงเรียนบ้านแสนดี เยาวชนต้นแบบจากจังหวัดร้อยเอ็ด เล่าถึงความประทับใจหลังจากจบกิจกรรมว่า "รู้สึกสนุกและชอบมากที่ได้มาร่วมกิจกรรม ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ มากมาย ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้เน็ต เช่น ไม่คลิกเปิดอีเมลที่ไม่รู้จัก เพราะอาจมีไวรัสติดมา และได้รู้ว่า อะไรควรแชร์ ไม่ควรแชร์ ซึ่งเมื่อก่อนมีอะไรก็จะแชร์หมด ทั้งที่บางอย่างก็เป็นเรื่องหลอกลวง สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากฐานนี้ก็จะนำไปบอกต่อกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนด้วย"
การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กสามารถอยู่ในโลกของสื่อยุคปัจจุบันได้อย่างปลอดภัย รู้จักใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ ล้วนหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ นำไปสู่การสร้างพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพของสังคมต่อไป