สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประกาศควบคุมสัญญาธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า

ข่าวทั่วไป Friday March 16, 2001 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--สคบ.
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ควบคุมสัญญาธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดมีผลบังคับใช้ในอีก ๒ เดือนข้างหน้า เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว ขณะเดียวกันเตรียมกำหนดอัตราเหมาะสมกรณีคิดค่าธรรมเนียมหรือเงินพิเศษหรือเบี้ยปรับของธุรกิจบัตรเครดิตหรือเงินผ่อนที่เกินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕
นายอนุวัฒน์ ธรมธัช เลขาธิการสคบ. กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งรายละเอียดและหลักการของประกาศได้สรุปผลเสร็จแล้ว รอเพียงการอนุมัติจากคณะกรรมการฯและลงนามโดยประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีการลงนามและเสนอเรื่องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ โดยจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อในการปรับตัวประมาณ ๖๐ วัน จึงคาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก ๒ เดือนข้างหน้า
สำหรับสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว จะดูแลผู้บริโภคในการเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการใช้สอยทั่วไป ซึ่งรวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงานต่าง ๆ หากเป็นการเช่าซื้อและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในการควบคุมของประกาศจะครอบคลุมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สารสนเทศและโสตทัศน์ที่ใช้สอยทั่วไป ยกเว้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบวิชาชีพหรือประกอบธุรกิจ ซึ่งสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างผู้บริโภคในฐานะผู้เช่าซื้อกับผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ จะต้องระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งยี่ห้อ รุ่น และหากเป็นของเก่าก็ต้องระบุด้วย กรณีผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าธรรมเนียมตามสัญญาหมดแล้ว ให้ถือว่ากรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม และหากว่า ผู้เช่าซื้อชำระเงินหมดก่อนครบสัญญา จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยให้เท่าไร ส่วนกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดการชำระเงินเพียงงวดเดียว ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ จะต้องผิดนัดอย่างน้อย ๒ งวดขึ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงจะเลิกสัญญาได้ และหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญา จะต้องเขียนให้ชัดเจนว่า สาเหตุการเลิกสัญญาจะมาจากอะไรบ้างและต้องมีอักษรสีที่แตกต่างจากอักษรทั่วไปในสัญญาให้เห็นได้ชัดเจน รวมทั้งต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ส่วนการคิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากผู้เช่าซื้อ จะคิดได้ไม่เกินร้อยละ ๑๕
สำหรับกรณีที่ผู้เช่าซื้อให้หาผู้ค้ำประกันสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะมีคำเตือนว่าผู้ค้ำประกันจะมีขอบเขตการค้ำประกันมากน้อยเพียงใดในสัญญา เช่น ค้ำประกันจนกว่าหนี้ในสัญญาจะหมดหรือภายในวงเงินที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระรวมทั้งดอกเบี้ยหรือรับผิดชอบร่วม หรือเป็นลูกหนี้ร่วม หรือหากเป็นสัญญาที่บอกว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องจากผู้เช่าซื้อให้เรียกร้องจากผู้ค้ำประกันเลย ในกรณีถ้าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้โอกาสผู้ค้ำประกันมีสิทธิเป็นผู้เช่าซื้อก่อน
ในกรณีที่มีการประกันภัยเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ให้เช่าซื้อจะมีสิทธิเฉพาะจำนวนเงินที่คงค้างตามสัญญา ส่วนที่เกินจากนั้นจะต้องคืนให้ผู้เช่าซื้อ รวมทั้งหากบอกเลิกสัญญาและจะขายสินค้าดังกล่าว ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อให้โอกาสในการซื้อก่อนคนอื่น แต่หากซื้อไม่ได้และขายทอดตลาด ถ้าขายได้เกินมูลหนี้ ส่วนที่เหลือจะต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค แต่หากประมูลหรือขายทอดตลาดและรายได้ยังไม่พอ ผู้เช่าซื้อจะต้องหาเงินมาจ่ายให้ผู้ให้เช่าซื้อให้ครบตามวงเงิน
เลขาธิการสคบ.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สคบ.อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ถึงกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สินค้าเงินผ่อนและเช่าซื้อ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีการคิดค่าธรรมเนียมพิเศษหรือค่าค้างชำระในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือน แม้จะคิดดอกเบี้ยปกติไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยสุทธิจะสูงถึงร้อยละ ๔๒—๔๔ ต่อปี จึงพิจารณากับธปท. ว่า การคิดเบี้ยปรับ เบี้ยค้างชำระ เงินค่าธรรมเนียมในเรื่องเช่าซื้อของผู้ให้บริการควรจะอยู่ในอัตราใดที่เหมาะสมและคิดจากฐานยอดเงินเท่าไร เช่น จากเงินต้นทั้งหมดหรือจากหนี้คงค้าง เพื่อจะออกประกาศควบคุมเพิ่มเติม ไม่ให้ผู้บริโภคต้องเสียเปรียบผู้ประกอบการมากเกินไป--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ