บีโอไอ ชู 3 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าหมายดันไทยแข่งได้ในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2001 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--บีโอไอ
ผลเสวนาระดมสมอง "อุตสาหกรรมไทย...แข่งได้ไหมในเวทีโลก" ทุกฝ่ายชี้ภาคเอกชนต้องเน้นเสริมการตลาดและคุณภาพ ส่วนภาครัฐต้องเร่งเดินหน้านโยบายหนุนพร้อมต้องปรับบทบาทเพื่อเอื้ออำนวยต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกยุคเสรี เห็นร่วมต้องอาศัยอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อน บีโอไอชี้แบ่งเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม เสริมทัพด้วยข้อมูลข่าวสารจากหน่วยข่าวกรองด้านการลงทุน ที่บีโอไอจะจัดตั้งขึ้นเป็นระบบเตือนภัย
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการเสวนา "อุตสาหกรรมไทยแข่งได้ไหมในเวทีโลก" โดยบีโอไอร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต จำเป็นต้องมีการแสวงหาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยบีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนั้น ๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เสริมด้วยการจัดตั้งหน่วยข่าวกรองด้านการลงทุน (Investment Intelligence Unit) เพื่อสนับสนุนเรื่องของข้อมูลข่าวสาร เป็นการสร้างระบบเตือนภัยป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง
"อุตสาหกรรมเป้าหมายจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ และกลุ่มไบโอเทคโนโลยี โดยบีโอไอจะนำเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานให้ศึกษาเจาะลึกและพัฒนาอุตสาหกรรมเชื่อมโยง ทั้งที่เป็นกลุ่ม (Clusters) รวมทั้งเอสเอ็มอี
ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบก็มีอาหารไทย สินค้าเกษตร ซึ่งเราจะมีขีดความสามารถ เก่งในเชิงเปรียบเทียบ อาทิ เครื่องประดับ เซรามิกส์ ซึ่งจะต้องสามารถเชื่อมโยงถ่ายทอดสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่สิ่งที่ยังขาดคือ แผนงานที่ชัดเจนและเป็นระบบ บีโอไอเองก็ต้งมีการเปลี่ยนโฉมการให้สิทธิประโยชน์ เพราะต่อไปเรื่องนี้ไม่ใช่เครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนหรือจูงใจภาคอุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของข้อมูลด้านการลงทุน ความโปร่งใสและการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากร แต่ไม่ชี้นำ คือให้ข้อมูลที่ดีที่สุดและต้องไม่แบ่งแยก เพราะเราสนองตอบทั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริม "นายจักรมณฑ์กล่าว
ทางด้านนายวัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จะต้องสามารถเชื่อมโยงไปสู่กิจการขนาดเล็ก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะสามารถสร้างธุรกิจต่อเนื่องไปสู่รายย่อย เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หรือในรูปของอุตสาหกรรมกลุ่ม เช่น ธุรกิจอาหารแปรรูป ก็ต้องสร้างภาพให้ชัดเจน แต่จะต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องของงานวิจัย และการลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น เพราะสาเหตุหนึ่งของขีดความสามารถที่ถดถอย จะมาจากวิธีในการจัดสรรทรัพยากร
ส่วนการจะกำหนดว่าอุตสาหกรรมใดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ควรพิจารณาเลือกอุตสาหกรรมที่เป็นแชมป์เปี้ยน ก่อนที่จะทุ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ๆ มากกว่าที่จะทุ่มพัฒนาทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ และการจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างคงที่ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่บรรดาผู้ซื้อในตลาดโลกจะตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
นายบรรยง พงษ์พาณิช ประธานกรรมการบริษัท เมอริลลินซ์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า จากการวิจัยตลาดนักลงทุนโลกยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ แต่ปัญหาคือการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทในประเทศไทยซึ่งยังถือว่ามีจำนวนน้อย ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อการทำธุรกิจกับกลุ่มอุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องกระแสต่อต้านต่างชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า หากบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก ใช้แรงงานในประเทศ ก็ถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมไทย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้วย
ทางด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานด้วย ไม่ควรมองแต่ความต้องการของตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะอาจทำให้เกิดความล้มเหลวเหมือนกับประเทศเกาหลีเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายผิด นอกจากนี้ ทุกอุตสาหกรรมล้วนมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นดาวรุ่งและมีช่องทางอยู่อีกมาก ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะสรุปว่าควรให้ความสำคัญเฉพาะบางอุตสาหกรรม แต่ต้องให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ด้วย
ดร.สมเกียรติกล่าวด้วยว่า การเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมในชาติ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาครัฐจะต้องใช้เป็นนโยบายแห่งชาติ เพราะภาคการผลิตนี้จะเป็นบันไดสำคัญที่จะนำไปสู่การวิจัยพัฒนา ต้องมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาทักษะแรงงาน และประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าร่วมเจรจาในองค์การการค้าโลก เพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้า รวมทั้งจะต้องมีการเตรียมการเจรจาทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลัก เช่นญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การเสวนา "อุตสาหกรรมไทย แข่งได้ไหมในเวทีโลก" บีโอไอได้ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นในการพัฒนาขีดความเห็นในการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2544 ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการอุตสาหกรรม การเงินและนักวิชาการ โดยมีผู้ร่วมฟังการเสวนากว่า 150 ท่าน จากสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชน--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ