กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานมอบนโยบายการดำเนินงานของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ในปี 2559 ว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยมีการพัฒนาสร้างสรรค์งานด้านศิลปะร่วมสมัย 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง วรรณศิลป์ ดนตรีและการขับร้อง สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ การออกแบบเครื่องแต่งกาย และภาพยนตร์ แต่ในปัจจุบัน สศร. เน้นการดำเนินงานในเรื่องของทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ประติมากรรม และนิทรรศการ) มากกว่าสาขาอื่นๆ จึงมอบนโยบายให้ สศร. ดำเนินงานพัฒนาสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในด้านอื่นๆควบคู่ไปด้วย โดยในปี 2559 นำร่องงานศิลปะร่วมสมัยใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ ศิลปะการแสดง ดนตรีและการขับร้อง และการออกแบบเครื่องแต่งกาย
นายวีระ กล่าวว่า ที่สำคัญเมื่อเร็วๆนี้ นายหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรพิบูลย์กุล นักวิชาการวัฒนธรรม สังกัด สศร. ผู้ออกแบบชุดประจำชาติ ชุดตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์ ได้คว้าชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2015 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ถือว่ามากที่สุดในโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ สศร. จะนำร่องพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายของไทยให้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ เพราะมีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่แล้ว จึงไม่น่ายากที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่วงการแฟชั่นของไทย ทั้งนี้ต้องหารือร่วมกับองค์กรด้านแฟชั่นของไทยในการวิเคราะห์แนวโน้มวงการแฟชั่นในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานไปทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนสาขาศิลปะการแสดง ควรผลักดันให้นักแสดงร่วมสมัยมีเวทีในการแสดง และสนับสนุนให้เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาร่วมสมัยในอนาคต ด้านสาขาดนตรีและการขับร้อง ต้องจัดทำทำเนียบศิลปินร่วมสมัย เพื่อประชาสัมพันธ์ดนตรีร่วมสมัยและสร้างตลาดให้แก่ศิลปิน
นายวีระ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้มอบหมายให้ สศร. จัดทำหนังสือศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในประเทศไทย โดยนำข้อมูลของงานศิลปะร่วมสมัยทั้ง 9 ด้าน ซึ่งต้องมี 1.ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละสาขา เช่น รายชื่อบุคคลหรือผู้ประกอบการที่ดำเนินงานในแต่ละสาขา รายได้/ปี มูลค่าการส่งออก 2.สถานศึกษาที่เปิดสอนในสาขาทั้ง 9 สาขา 3.จัดลำดับความก้าวหน้าของศิลปะร่วมสมัยทั้ง 9 สาขาของไทย ว่าอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ของอาเซียน/เอเชีย/โลก เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการดำเนินงานด้วย
"อย่างไรก็ตาม สศร.ต้องวางเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจน และเป็นรูปธรรม เช่น ภายใน 10 ปี ไทยจะเป็นศูนย์กลางของวงการแฟชั่นในเอเชีย เพื่อให้ดำเนินงานชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ จะต้องทำงานโดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำของแต่ละสาขา ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยให้มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้ในอนาคต" นายวีระ กล่าว