กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กรมสุขภาพจิต
วันนี้ (8 ม.ค.59) กรมสุขภาพจิต ได้จัดกิจกรรม "สวนสนุก...เพื่อเด็ก...คนพิเศษ" ที่ สถาบันราชานุกูล ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีให้กับเด็กๆ และผู้ปกครอง ภายใต้นโยบายของนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ได้เห็นความสำคัญจากการสำรวจของกรมอนามัย ที่พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ครั้งแรกอายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12สัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 57.3 ขณะที่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 29.5 รวมถึงพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กขาดความรู้ ทักษะ ในการเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง และมีเพียงร้อยละ 20 ที่พ่อแม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนของลูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเสริมสร้างความฉลาดของเด็กทั้งสิ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมอนามัย ในปี 2542-2557 ก็ยังพบว่า เด็กที่พัฒนาการสงสัยล่าช้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาการให้บริการในคลินิกเด็กดี ( Well Child Clinic) เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการแล้วก็ตาม จากการดำเนินงาน ก็ยังพบว่า พ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กยังขาดความตระหนักและขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสม การเสริมสร้างพัฒนาการและความฉลาดให้กับลูกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความตระหนักและสนใจ ทั้งนี้ สามารถทำได้ที่บ้านโดยผ่านการเล่นและกิจวัตรประจำวัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากหรือของเล่นราคาแพง แต่เป็นการที่เด็กได้เล่นกับพ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของลูก ได้ฝึกทักษะต่างๆในระหว่างเล่น ได้เล่นในบรรยากาศที่สนุกสนานและอบอุ่น เพียงเท่านี้เด็กจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองจากกิจกรรมที่เล่นและมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดีจากการได้ใช้เวลาที่ดีกับพ่อแม่ และเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปีนี้ กรมสุขภาพจิต ได้จัดทำองค์ความรู้"ลูกฉลาด หัวไว เพราะความใส่ใจของพ่อแม่"เป็นของขวัญพิเศษสำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ www.rajanukul.go.th และ www.prdmh.com รวมทั้ง ได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาแอพลิเคชั่น CAMHS-Aid ขึ้น เพื่อช่วยบุคลากรในสถานพยาบาลในการวินิจฉัยอาการทางจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น พร้อมให้คำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ Android และ iosอีกด้วย
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวภายหลังการเปิดงานว่า CAMHS Aid เป็น mobile application ที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง กรมสุขภาพจิต โดย โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ บุคลากรในเขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา) และวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาในการวินิจฉัยและดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตในหน่วยงานที่ไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียง 200 คน ไม่เพียงพอกับการให้บริการเด็กวัยรุ่นกว่า10 ล้านคน ทำให้เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม พัฒนาการและการเรียนรู้ จำนวนมากไม่ได้รับการรักษา โดยปัญหาที่พบบ่อยในโรงพยาบาลชุมชน มี 8 อาการ ด้วยกัน ได้แก่ 1) ซนอยู่ไม่นิ่ง 2)ไม่ยอมไปโรงเรียน 3) พัฒนาการช้า 4) เรียนช้า 5) การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 6) พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น 7) การทารุณกรรมในเด็ก และ 8) อุปาทานหมู่ ทั้งนี้ แม้จะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เช่น โรคสมาธิสั้น ซึ่งมียาเพิ่มสมาธิ ช่วยให้เด็กเรียนและใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วไป กลับมีเด็กได้รับการดูแลรักษาไม่ถึงร้อยละ 5 เป็นความสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาของเด็กๆกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน จะทำให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับ แอพพลิเคชั่น CAMHS-Aid จะมีข้อคำถามให้เลือกตอบแบบ ใช่/ไม่ใช่ ไปเป็นลำดับขั้นจนได้การวินิจฉัยและแนวทางดูแลรักษา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจของจิตแพทย์เด็ก พบว่า ช่วยวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นได้ดี ตลอดจน มีแนวทางการติดตามการรักษาในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว 3 โรค ได้แก่ 1) โรคสมาธิสั้น 2) โรคออทิสติก และ 3) สติปัญญาบกพร่อง เพื่อให้สามารถติดตามการรักษาและส่งต่อพบผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม แม้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้ จะไม่สามารถทดแทนการตรวจรักษาของจิตแพทย์เด็กได้ แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหา ได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้นจากบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนส่งต่อมาพบจิตแพทย์เด็กในกรณีที่เกินศักยภาพในการดูแล ในระยะต่อไป ทั้งนี้ มีแผนพัฒนาให้เป็นเวอร์ชั่นสำหรับผู้ปกครอง รวมถึงการแปลเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นำไปใช้ได้แพร่หลายขึ้นในเขตเศรษฐกิจอาเซียน รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความฉลาดให้กับเด็ก บันไดขั้นแรกที่สำคัญ คือ การสร้างวินัย โดย การฝึกสมาธิ ฝึกการวางแผนล่วงหน้า ฝึกระเบียบวินัย ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกความรับผิดชอบ และฝึกควบคุมตนเอง ถัดมา คือ การเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมทักษะทั้ง 2 ด้านนี้มักจะเรียนได้ดีกว่าเมื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาล และ พบว่า ทักษะด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำนายความสามารถในอนาคตได้มากที่สุด ตามด้วยทักษะด้านการอ่านและสมาธิ อย่างไรก็ตาม นอกจากการเตรียมความพร้อมให้ลูกตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อแม่ยังเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กประสบความสำเร็จเมื่อเข้าโรงเรียนได้อีกด้วย จึงขอแนะ9 เทคนิคช่วยให้ลูกเรียนเก่ง ได้แก่ 1. ยอมรับและเข้าใจ ในสิ่งที่เด็กเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อย การให้ความเข้าใจเป็นความรักอย่างหนึ่งที่พ่อแม่ควรให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ 2. ร่วมมือกันวางแผนเพื่อลูก แบ่งหน้าที่ช่วยเหลือกันในการดูแลลูกด้านต่างๆ เช่น การตรวจดูการบ้าน การพบปะคุณครู การพาลูกไปออกกำลังกาย 3. พ่อแม่และครูต้องเป็นทีมเดียวกัน หมั่นพบปะ พูดคุยกับครูอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการเรียนและปัญหาของลูก 4.ให้ลูกค้นหาสิ่งใหม่ๆค้นหาสิ่งที่เด็กชอบ ช่วยให้ลูกกล้าคิดกล้าทำ เริ่มจากกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียน แล้วให้เด็กได้ทดลองทำ 5.คอยให้กำลังใจ กำลังใจจากพ่อแม่ เป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้ลูกพยายามในสิ่งที่ทำอยู่ แต่ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับสิ่งที่ทำไม่ได้นานเกินไป 6. ลดการเปรียบเทียบ ถ้าต้องการให้ลูกเป็นอย่างไร ให้บอกลูกตรงๆ 7. ฝึกให้ช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ แต่งตัว จัดเตรียมของไปโรงเรียน การใช้เงิน 8. มอบหมายงานบ้าน โดยมอบหมายความรับผิดชอบการทำงานบ้านง่ายๆตามวัย เพื่อให้เกิดความเคยชินและเรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือคนอื่นๆ และ 9.ฝึกระเบียบวินัย เพื่อให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านควรพูดไปในทางเดียวกัน และเหตุผลที่อธิบายให้เด็กเข้าใจนั้นก็ควรสั้นและกระชับ เพื่อให้ลูกเกิดความเข้าใจด้วยตัวเอง