กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์
การศึกษามีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็กไทยให้สามารถเติบโตเป็นพลเมืองของประชาคมอาเซียน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2559 นี้ ทุกประเทศในอาเซียนจะก้าวผ่านพรมแดนรัฐชาติสู่ภูมิภาคแห่งความร่วมมือหลายด้านร่วมกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนนั้น ทำให้ประเทศไทยตื่นตัวพร้อมพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้พร้อมก้าวสู่การเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว
ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโรงเรียนสองภาษาในเครือสาธิตแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีระบบ International Baccalaureate Programme (IB) ตั้งแต่ปี 2547 ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในหลากหลายวิชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ตอบโจทย์แนวทางแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษาของประเทศ กล่าวว่า "แนวคิดการเป็นบุคคลสองภาษานับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยุคเออีซี (AEC) อย่างมาก เพราะเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียน และจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อทำงาน ทำธุรกิจ แสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกแห่งมิตรไมตรีไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน แม้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยจะมีทางเลือกให้กับผู้เรียนหลากหลาย แต่การเรียนในหลักสูตรสองภาษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงจะทำให้เด็กไทยมีความแตกต่างและข้อได้เปรียบที่ดียิ่งขึ้น"
หลักสูตรที่ถือว่าเหมาะกับเด็กในยุคเออีซี ได้แก่ หลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวม (Unified Bilingual Curriculum) ที่เป็นการนำเอาจุดดีและจุดเด่นของหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติในระดับสากลมาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สองภาษาควบคู่กันไปในทุกรายวิชา เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการต่างๆ โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้เด็กได้พัฒนาทักษะของตนเองแบบองค์รวม (Holistic Development) แม้จะมีการเรียนการสอนที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นหลักแต่ยังคงสอดแทรกบริบทความเป็นไทยให้แก่เด็กด้วย เพื่อความเข้าใจทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทยที่ลึกซึ่งเพียงพอที่จะต่อยอดโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้
ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์ กล่าวว่าต่อ "เราต้องรู้จักแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน โดยการเรียนแบบสองภาษามีข้อได้เปรียบกว่าการศึกษาอื่น เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ปกครองที่กำลังวางแผนการศึกษาให้กับบุตรหลาน เพราะการสร้างเด็กไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุค 'เออีซี' นั้นไม่เพียงแต่ความโดดเด่นด้านภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเท่านั้น ควรที่จะสอดแทรกความเป็นไทย แต่มีความเป็นสากลควบคู่กันไป ซึ่งจะสร้างให้เด็กสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญยังเน้นการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ยิ่งจะทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งเรื่องวิชาการ พร้อมทั้งมีความรอบรู้ในเรื่องการใช้ชีวิต โดยหลักสูตรนี้นอกจากจะทำให้เด็กมีศักยภาพที่ดี มีความเก่ง รอบรู้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือการทำให้เด็กเข้าใจระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ไปพร้อมกับการมีทักษะที่แตกต่างกว่าเด็กทั่วไปด้วย ขณะเดียวกันเมื่อจบการศึกษาแบบสองภาษาก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ เพราะหลักสูตรนี้มีการประยุกต์ ทั้งเนื้อหา วิธีการสอนที่เป็นนานาชาติอยู่แล้ว ฉะนั้น นักเรียนสามารถเลือกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศทั่วโลก หรือแม้แต่จะสอบเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศก็สามารถเลือกสอบเข้าได้ทุกคณะเช่นกัน"
"เมื่อเราสร้างเด็ก 2 ภาษาได้อย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนว่า จะกลายเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ ที่มีทัศนคติที่ดีทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะเป็นผู้นำและฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศ และก้าวสู่การเป็นพลเมืองของอาเซียนที่มีศักยภาพต่อไป โดยการศึกษาไทย เราต้องก้าวไปสู่การเป็น International Globalization ควบคู่กับมีจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย และเสาะแสวงหาโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กในมิติใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างผู้นำสำหรับอนาคต เตรียมรับการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน ซึ่งเด็กต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ พร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการแข่งขันกับนานาชาติได้ ดร.อภิรมณ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านงานประชาสัมพันธ์)
โทร.02-284-2662 แฟกซ์. 02-284-2287,2291 www.kanokratpr.com
คุณกนกรัตน์ วีรานุวัตติ์ E-mail: Kanokrat@kanokratpr.com