กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
" ทำไมระหว่างคนรวยกับคนจนถึงได้มีช่องว่างมาก ทำไมคนรวยถึงรวยขึ้นเรื่อยๆ แต่คนธรรมดา คนที่มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ปานกลางถึงไม่รวยขึ้นสักที" เป็นคำถามที่หลายคนคงสงสัยใคร่รู้เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่มีดีกรีรองแชมป์โลกซอฟต์แวร์ ปัจจุบันศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีข้อสงสัยถึงเรื่องดังกล่าวพร้อมหาช่องทางที่จะช่วยให้คนทั่วไปรวยขึ้น
เมื่อมองว่าการลงทุนทางการเงินเป็นช่องทางหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ จากความสงสัยจึงอยากหาวิธีที่จะช่วยให้คนธรรมดาได้เข้าถึงช่องทางการลงทุนทางการเงินมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงนักศึกษาแต่พงศธรบอกกับตัวเองว่าเมื่อเรามีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีและความรู้ด้านการเงินการลงทุนจากคุณพ่อซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจึงอยากใช้ความรู้ที่มีพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้คนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มคนระดับล่างสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงิน ได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งดูแลพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ เพราะในการลงทุนแต่ละครั้งมีมูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้คนระดับล่างมักเข้าไม่ถึง
จึงเป็นที่มาของเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า " Wealth Advisor" ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนในกองทุนรวม ที่ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบของ App และ เว็บไซต์ ผลงานของ 4 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย นายพงศธร ธนบดีภัทร (นพ) นายวรยุทธ เพชรสุวรรณรังษี(กวางตุ้ง) นายวิศรุต ศรสิงห์ (โชกุน) จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนางสาวนันทพร ดีศิลปกิจ (ฝน) จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ.
พงศธร เจ้าของไอเดีย กล่าวว่า " สำหรับ Wealth Advisor เครื่องมือทางการเงินที่พัฒนาขึ้นนี้ต้องการให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านการเงินและการลงทุน หรือ Wealth Management โดยเอามาอยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ผ่านมือถือและเว็บไซต์เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่มีเงินระดับร้อยล้านเท่านั้น คนที่มีเงินเพียง 5,000 บาทขึ้นไปก็สามารถเข้าถึงการลงทุนได้ ซึ่งเครื่องมือนี้จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงการบริหารจัดการทางการเงินการลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้โดยไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินที่มีค่าตัวสูง โดยจะเน้นการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลของกองทุนรวมที่มีอยู่ในประเทศเพื่อการลงทุนสำหรับผู้สนใจ เครื่องมือนี้จะช่วยเลือกกองทุนที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนๆนั้น เพราะเราได้พัฒนาเครื่องมือนี้จากการถอดรูปแบบระบบการทำงานจากที่ปรึกษาทางการเงินมาเขียนเป็นอัลกอริทึ่มเพื่อใช้คำนวณว่าคนๆนั้นมีพื้นฐานทางการเงินอย่างไร ระดับความเสี่ยงที่เขาจะได้รับขนาดไหน และเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการเป็นอย่างไร ทุกอย่างจะต้องถูกประมวลผลทั้งเรื่องของรายได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด นำมาประเมินวิเคราะห์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของคนคนนั้น นอกจากนี้ยังสามารถคำนวณผลตอบแทนที่ควรจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนนั้นๆ รวมถึงความเสี่ยงที่เขาจะได้รับอีกด้วย"
นอกจากนี้ พงศธร ยังกล่าวอีกว่า " Wealth Advisor จัดเป็นตัวช่วยในการเลือกการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนๆนั้นจากจำนวนกองทุนที่มีอยู่ในประเทศกว่า1,500 กองทุน ที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยสนใจว่ากองทุนไหนให้ผลตอบแทนดีไม่ดีอย่างไร ส่วนใหญ่เน้นซื้อกองทุนเพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษี ดังนั้นจะดีหรือไม่ถ้านอกจากจะได้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังได้กำไรเมื่อขายคืนหลังการถือครองครบตามอายุสัญญาแทนที่จะซื้อไว้เพื่อลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียวแล้วเงินต้นก็หายไปเพราะขาดทุนไปตามกาลเวลา แต่การจะเลือกหรือนำแต่ละกองทุนมาเปรียบเทียบเองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เครื่องมือนี้จะช่วยรวบรวมกองทุนหรือหุ้นที่มีอยู่ในตลาดแล้วคัดเลือกให้ว่ากองทุนหรือหุ้นตัวไหนเหมาะสมกับการลงทุนของคนคนนั้นมากที่สุด พร้อมโอกาสการทำกำไรและความเสี่ยงว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย ยอมรับว่าคนไทยที่ซื้อกองทุนหรือลงทุนในกองทุนรวมจริงๆ ยังมีไม่ถึง 4 ล้านคนอีกกว่า 60 ล้านคนยังไม่เคยซื้อกองทุนมาก่อน และจากสถิติพบว่าผู้ที่เกษียณอายุกว่าร้อยละ 90 มักมีเงินเก็บไม่พอใช้ส่วนใหญ่จะมีเงินออมที่พอใช้ไปจนถึงอายุ 66 ปีหลังจากนั้นก็จะต้องพึ่งพาเงินจากลูกหลานหรือจากการขายของ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมคนไทยไม่มีวิธีการจัดการการเงินที่ดีกว่าการฝากเงินกับธนาคาร จึงเห็นว่าเราควรมีอะไรที่จะมาให้ความรู้หรือมาวางแผนและบริหารจัดการให้คนธรรมดาที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินการลงทุนได้เข้าถึงเรื่องของตลาดเงินและตลาดทุนมากขึ้น"
สำหรับเครื่องมือทางการเงิน Wealth Advisor หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Rich Advisor ผลงานของ 4 นักศึกษาจาก มจธ.ชิ้นนี้ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดแข่งขันการสร้างผลิตภัณฑ์แอพพลิเคชั่นทางการเงิน เพื่อส่งเสริมนักพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงินที่พร้อมเชื่อมโยงโอกาสในการลงทุน ในโครงการ Krungsri Uni Start up 2015 ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวจะยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ อยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจและจัดตั้งเป็นบริษัทต่อไป แต่คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปี 2559 นี้