บีโอไอเปิดประเภทส่งเสริมใหม่ สนับสนุนการลงทุนกิจการรีไซเคิล

ข่าวทั่วไป Friday November 23, 2001 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอชูนโยบายรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อนุมัติเปิดประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ให้กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นประเภทกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้รับยกเว้นทั้งอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้ 8 ปี
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอในวันนี้ (22 พ.ย.44) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอเปิดให้ส่งเสริมการลงทุนอีก 1 ประเภท คือ กิจการนำวัสดุที่ไม่ต้องการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งในส่วนของการยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ในทุกเขตที่ตั้ง โดยกำหนดให้ตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องตั้งนอกนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
ทั้งนี้ กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่จะครอบคลุมถึง กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กิจการเรียกคืนวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว, กิจการนำวัสดุที่ไม่ต้องการใช้แล้วกลับมาใช้อีก (Reuse), กิจการนำวัสดุที่ไม่ต้องการใช้แล้วไปแปรรูปเพื่อใช้ใหม่ (Recycling) และกิจการสกัดของมีค่าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำมาใช้ใหม่ (Recovery) ไม่รวมถึงขั้นตอนการนำไปผลิตเป็นสินค้า ซึ่งสามารถขอรับส่งเสริมได้ตามหลักเกณฑ์ปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ จะให้ส่งเสริมเฉพาะกิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในประเทศเท่านั้น
"การให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งมีเป้าหมายในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยังจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะมูลฝอย เนื่องจากจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการคัดแยกขยะเพื่อนำไปขายต่อให้โรงงานแปรรูป ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องการกำจัดแมลง" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษในปี 2543 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณวัสดุที่ไม่ใช้แล้วถึง 38,170 ตันต่อวัน โดยเป็นขยะมูลฝอยที่มีศักยภาพในการนำกลับมาใช้ใหม่ถึง 45% แต่มีการนำมาใช้ประโยชน์จริงเพียง 14%
ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการรีไซเคิลขยะเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกลุ่มไทย ทุนต่างประเทศ และเป็นการร่วมทุนด้วย โดยเฉพาะกิจการรีไซเคิลชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยยังมีการรีไซเคิลขยะประเภทนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะส่งออกไปรีไซเคิลในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ