อย.ชูกลยุทธ์เอาชนะยาเสพติด คุมเข้มการขายวัตถุออกฤทธิ์ในร้านขายยา

ข่าวทั่วไป Monday August 27, 2001 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--อย.
อย.ขานรับนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไป คุมเข้มการขายวัตถุเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ในร้านขายยาทั่วประเทศ พร้อมส่งทีมเจ้าหนี้ที่ออกเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เตือนเจ้าของร้านขายยาและคลินิก หากพบการลักลอบขายจะถูกดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนรับผิดชอบแผนปฏิบัติการเอาชนะยาเสพติดตามนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยได้วางกลยุทธ์การแก้ปัญหาอย่างรัดกุม เริ่มจากการกำหนดรายการยาเสพติดอและวัตถุออกฤทธิ์ที่จะต้องควบคุมอย่างเข้มงวดในร้านขายยา คือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2,3,4 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ได้แก่ ยาลดความอยากอาหาร (จำพวก เฟนเตอร์มีน (Phentermine) แพนเบซี (Panbesy) และ ดูโรมีน (Duromine) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของยาบ้า) ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือยาพีพีเอ (PPA) ยานอนหลับ เช่น ดอร์มิคุม (Dormicum) ฮาซิออน (Haloion) และ ยาเค เช่น เคตามีน ซึ่งยาดังกล่าวมีการลักลอบนำไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อการเสพติดและการก่ออาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งยาฟีนิลโปรปาโนลามีนยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการเลือดออกในสมองด้วย อย.จึงกำหนดแนวทางการควบคุมโดยไม่อนุญาตให้ร้านขายยามีไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้แพทย์ ทันตแพทย์และสัตว์แพทย์ใช้ได้กับคนไข้และสัตว์ที่ตนเองรักษาเท่านั้น สำหรับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ได้แก่ อัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือ ซาแน็ก (Xanax) และ ไดอราซีแปม (Diazepam) หรือ แวเลี่ยม (Valium) ซึ่งพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเช่นกัน อย.อนุญาตให้ขายได้ในร้านขายยาที่ได้รับบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 ประเภท 4 เท่านั้นซึ่งเภสัชกรต้องควบคุมการขายโดยมีใบสั่งแพทย์ และให้จัดทำบัญชีการซื้อ-ขาย ตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นจริง ส่วนการควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ได้แก่ ยาแก้ไอผสมโคเดอีน ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมักนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น จะอนุญาตให้ขายได้ในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ต้องควบคุมการขายโดยเภสัชกร และต้องจัดทำบัญชีการซื้อ-ขายตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นจริงเช่นกัน
นอกจากจะควบคุมการขายยาอย่างเข้มงวดแล้ว อย. ยังดำเนินงานอย่างจริงจังในการตรวจสอบการลักลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ โดยในเดือนกรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา ได้ทำการตรวจสอบการลักลอบวัตถุออกฤทธิ์ในร้านขายยา และคลินิกในเขตกรุงเทพฯ โดยมีการดำเนินคดีกับคลินิกที่ลักลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไปแล้ว จำนวน 4 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการตรวจสอบออกไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และเมื่อเร็วๆ นี้ อย. ยังได้ร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด จับกุมร้านขายยาและคลินิกที่ขายวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตจังหวัดชลบุรีอีกหลายแห่งด้วย ซึ่ง อย. ไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงเท่านี้ จะเดินหน้านำเจ้าหน้าที่อาหารและยาลุยตรวจร้านขายยาและสถานที่ที่เห็นว่าน่าสงสัยอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นกว่าเดิม จึงขอเตือนมายังร้านขายยาและคลินิกต่างๆ อย่าฝ่าฝืนทำผิดกฎหมายเป็นอันขาด หากมีกาตรวจพบจะถูกจับดำเนินคดี รวมทั้งมีการออกข่าวเผยแพร่ทางสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ให้ประชาชนรับทราบด้วย เป็นการลงโทษทางสังคมและทางกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อมิให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดต่อไป--จบ--
-นห-

แท็ก ยาเสพติด   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ