กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ "AA-" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ บตท. ที่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและการได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาล อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ยังสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีหลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำอีกด้วย อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีข้อจำกัดในด้านของความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ การรักษาระดับเงินกองทุนให้เพียงพอ และการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมาก
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บตท. อาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ และรักษาระดับเงินกองทุนที่เพียงพอเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บตท. อาจปรับลงได้หาก บตท. มีสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
บตท. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านกฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 อีกทั้งรัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนโดยการอนุมัติเงินเพิ่มทุนให้แก่ บตท. ในปีงบประมาณ 2557 ด้วย
บตท. ก่อตั้งในปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท และล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2557 กระทรวงการคลังยังอนุมัติการเพิ่มทุนให้อีกจำนวน 130 ล้านบาทด้วย
สำหรับปีงบประมาณ 2557 คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการ บตท. ได้รับการจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ
เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. เป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง จากนั้นจึงขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน
บตท. มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นหลังจากสามารถบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายประการ ดังเห็นได้จากยอดสินเชื่อในปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2556 และมีกำไรติดต่อกัน 8 ปีแม้จะมีความผันผวนด้านรายได้ก็ตาม นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินพันธมิตรหลายแห่งยังทำให้พันธมิตรดังกล่าวขายพอร์ตสินเชื่อให้แก่ บตท. มากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2557 บตท. มียอดสินเชื่อใหม่เข้ามามากถึง 16,805 ล้านบาท ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1,732 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 8,610 ล้านบาทในปี 2556 และ ณ สิ้นปี 2557 ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นถึง 88% จากสิ้นปี 2556 มาอยู่ที่ 16,191 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ยอดสินเชื่อคงค้างของ บตท. อยู่ที่ 16,977 ล้านบาท โดยยอดสินเชื่อทั้งหมดประกอบด้วยสินเชื่อที่ซื้อจากธนาคารกสิกรไทยประมาณ 50% และจากธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 30% ส่วนที่เหลือมาจากธนาคารทิสโก้และธนาคารเกียรตินาคินแห่งละ 10%
ภายหลังการแก้ไขปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่เคยสูงถึงระดับประมาณ 40% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 5.5% ในปี 2555 และลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2556 และ 2.4% ในปี 2557 อันเป็นผลมาจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.3% แต่ก็เป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 3.6% ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่งด้วย เนื่องมาจากสินเชื่อเกือบทั้งหมดของบริษัทเป็นพอร์ตสินเชื่อที่ซื้อมาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวจะดีกว่าพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่างไรก็ตาม บตท. ยังคงต้องพิสูจน์ความสามารถในการรักษาระดับคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อใหม่ต่อไป
ความสามารถในการทำกำไรของ บตท. ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2551 โดย บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงานและการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวเป็น 4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาทในปี 2555 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บตท. ยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2556 และ 69 ล้านบาท ในปี 2557 ทั้งนี้ ณ ครึ่งแรกของปี 2558 บตท. ยังมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านบาท ตามผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อที่โตขึ้น
ในอดีต ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น แต่ภายหลังจากการออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันและตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) แล้วก็ทำให้การพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นมีสัดส่วนลดลงจาก 80% ในปี 2555 เหลือเพียง 40% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ส่วนแหล่งเงินทุนที่เหลือในสัดส่วน 60% นั้น บตท. ได้ลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินลงโดยการออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและ MBS ซึ่งแหล่งเงินทุนทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวเป็นแหล่งระดมเงินทุนระยะยาว และทำให้แหล่งเงินทุนสอดคล้องกับระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมากขึ้น
บตท. สามารถดำเนินการตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บตท. ประสบความสำเร็จในการออก MBS และตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset backed Securities – ABS) ถึง 7 ครั้ง มูลค่ารวม 6,612 ล้านบาท การออกตราสารดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน
บตท. มีการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากโดยการใช้เงินทุนที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงจาก 77.7% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 13.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และ อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 36.3% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 5.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า บตท. จะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างเพียงพอ
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SMCT166A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 827 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-
SMCT168A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-
SMCT176A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-
SMCT179A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-
SMCT17NA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-
SMCT186A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable