กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
"ฉัตรชัย" ขีดเส้นจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางรายย่อยไร่ละ 1,500 บาทต้องแล้วเสร็จสิ้นเดือนนี้ พร้อมจี้หน่วยเกี่ยวข้องเคลื่อน 15 มาตรการแก้ไขยางทั้งระบบเชื่อมั่นราคายางจะปรับตัวสูงขึ้น
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนายางพารา โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรเป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและ ตัวแทนเกษตรกรจากกลุ่มต่างๆ เช่น ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย , สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย , สมาคมเครือข่ายเกษตรกร , สถาบันเกษตรกรยางพาราไทย , สมาคมเครือข่ายชาวสวนยาง , สมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน, และสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมหารือ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคายางพาราทั้งระบบรวม 15 มาตรการ ซึ่งพบว่าในหลายโครงการยังไม่มีความคืบหน้าเท่าทึ่ควร จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรการให้เร่งรัดดำเนินการหรือปรับปรุงเงื่อนไขให้กลไกการทำงานต่างๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งในวันนี้ก็ได้สั่งการไปแล้ว เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศถึง 3 แสนตัน/ปี ที่ติดเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารออมสินก็ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้เป็นธนาคารพาณิชย์เข้ามาดำเนินการแทน โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าครม.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า
รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในกิจการแปรรูปยางพารา ซึ่งธกส.เพิ่งจะอนุมัติไปเพียง 490 ล้านบาท จากวงเงินเป้าหมาย 5,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท วงเงินรวม 13,000 ล้านบาท ซึ่งจ่ายเงินชดเชยไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท เกษตรกรประมาณ 8 แสนครัวเรือน ก็ได้สั่งการให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการดจ่ายเงินให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้
"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างมาก ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานโครงการในการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ถึงขั้นกำหนดว่าหากมีการละเลยหน้าที่ไม่ปฏิบัติงานก็จะใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้ารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคานำตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องราคาและปริมาณที่จะรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ส่วนความคืบหน้าเรื่องข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ 8กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ไปศึกษาโครงการภายในกระทรวงว่ามีโครงการใดที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากยางพาราได้ โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนตัน ขณะนี้แต่ละกระทรวงได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อรวบรวมข้อมูลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) ขณะที่การเพิ่มและการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารานั้น นอกจากการขายยางในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดเดิมแล้ว ยังมีแผนที่จะขยายตลาดยางใหม่ๆ เช่น อินเดีย และรัสเซีย เป็นต้นได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกยางพาราของประเทศอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย ให้ครม..พิจารณาในวันพรุ่งนี้ด้วย โดยตำแหน่งผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยก็จะเร่งสรรหา เพื่อให้ได้ผู้ที่จะมาขับเคลื่อนงานของการยางแห่งประเทศไทยโดยเร็วต่อไป
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสถานการณ์ราคายางพารา ณ ขณะนี้พบว่าเริ่มมีราคาที่เพิ่มขึ้น โดยราคาวันที่ 11 ม.ค.59 ณ ตลาดกลางยางพารา สงขลา ราคายางสดอยู่ที่ 31 บาท ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 34.89 บาท.