กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำและให้บริการฐานข้อมูลออนไลน์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) องค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานในการรวบรวม เผยแพร่ และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดข้อมูลและองค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยา สังคม-วัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งมีบางส่วนกำลังจะสูญหาย เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในแง่จัดระบบ เผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้คนในสังคมไทยเกิดการเรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง โดยความคืบหน้าล่าสุดนั้น ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 11 ฐาน โดยครอบคลุมเนื้อหาด้านต่างๆ ของงานมานุษยวิทยาและสังคม-วัฒนธรรมไทย ได้แก่ 1. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย 2. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย 3.ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ 4. ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
นายวีระ กล่าวอีกว่า 5. ฐานข้อมูลภาพยนตร์ชาติพันธุ์ 6. ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา 7. ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย 8. ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย 9. ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย 10. ฐานข้อมูลของเล่นพื้นบ้านในประเทศไทยและและ 11. ฐานข้อมูลคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา อย่างไรก็ตามแผนดำเนินการต่อจากนี้ ศมส.จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 8 ฐาน แบ่งเป็นฐานข้อมูลที่จะให้บริการภายในปี 2559 จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ 1. ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่น 2. ฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย 3. ฐานข้อมูลสังคม-วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4. ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฐานข้อมูลที่จะให้บริการภายในปี 2560 จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ 1. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้ 2. ฐานข้อมูลภาชนะดินเผาในประเทศไทย 3. ฐานข้อมูลมานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย และ 4. ฐานข้อมูลเรือนพื้นถิ่นในประเทศไทย
รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้ดำเนินการแปลข้อมูลในฐานเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้บริการผู้ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นศูนย์ข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและสังคม-วัฒนธรรมของไทยในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในอาเซียน เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลของศูนย์ดำเนินการตามมาตรฐานสากล รองรับการแปลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและรับบริการข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการต่อยอดการศึกษาวิจัยและแปรรูปเป็นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจได้