กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สธ.
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสภาวะน้ำท่วมขณะนี้ อาจเอื้อให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย โดยเฉพาะ 2 โรคที่คาดว่าอาจจะกลับมารุนแรงจากภาวะน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก ซึ่งได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังโรคดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู เพราะประชาชนอาจมีโอกาสสัมผัสกับปัสสาวะของหนูที่หนีน้ำไปอาศัยอยู่ในบ้านได้ ในช่วงที่ล้างทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด จึงขอให้ประชาชนสวมถุงมือยาง และสวมรองเท้าบู๊ตขณะทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อป้องกันการติดโรคดังกล่าว
สำหรับสถานการณ์ของโรคฉี่หนูล่าสุดได้รับรายงานจากอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อว่า มีแนวโน้มดีขึ้น โดยในรอบ 8 เดือนตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงล่าสุดทั่วประเทศพบผู้ป่วย 3,921 ราย เสียชีวิต 69 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยมีแค่ 1 ใน 3 ของช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าตลอดปีนี้ จะมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 ของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 75 อยู่ในภาคอีสาน จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดเลย รองลงมาได้แก่ ขอนแก่น สุรินทร์ แพร่ ชัยภูมิ
ทางด้าน นายแพทย์สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวถึง การพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูว่า กรมควบคุมโรคติดต่อได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา คือ ศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาชุดทดสอบโรคฉี่หนูขึ้น โดยตรวจหาเชื้อจากปัสสาวะผู้ป่วย ซึ่งง่ายกว่าการตรวจทางเลือด โดยใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายเฉพาะต่อเชื้อมาทดสอบ ใช้เวลาพัฒนา 2 ปีครึ่ง ขณะนี้ประสบผลสำเร็จในขั้นทดสอบประสิทธิภาพกับผู้ป่วยจริงจำนวนกว่า 200 รายในโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ พบว่าได้ผลดีสามารถทราบผลตรวจภายใน 90 นาที ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วและถูกต้อง ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มาก
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะขยายผลทั่วประเทศ กรมควบคุมโรคติดต่อจะนำมาทดลองภาคสนามอีกครั้ง ในเดือนกันยายนนี้ โดยใช้เวลาศึกษาประมาณ 2-3 เดือน คาดว่าปลายปีนี้จะทราบผล หากการศึกษาจากปัสสาวะโดยชุดทดสอบกับการตรวจยืนยันภูมิคุ้มกันการติดเชื้อจากเลือดได้ผลในแนวทางเดียวกัน ก็จะขยายเทคโนโลยีนี้ให้ จังหวัดที่มีปัญหาการแพร่ระบาดโรคนี้ต่อไป ซึ่งจะทำให้วงการแพทย์ไทยลดการตายของผู้ป่วยจากโรคฉี่หนูได้สำเร็จ--จบ--
-สส-