กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กรมอนามัย
กรมอนามัยเตรียมรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม แม้ว่าเป้าหมายให้แม่เลี้ยงทารกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 4 เดือนให้ได้ร้อยละ 30 เมื่อสิ้นแผน 8 จะทำได้เพียงร้อยละ 2.92 แต่ต้องรณรงค์ต่อไป โดยในปีนี้จะใช้คำขวัญ “อิ่มอุ่นน้ำนมแม่ สิทธิแท้ของทุกคน” พร้อมเตรียมหาแนวร่วมเพื่อช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สตรีสามารถลาคลอดได้ถึง 4 เดือน ตามอนุสัญญาเจนีวา
น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึง “โครงการการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2543” ว่า องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้กำหนดให้ในวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปีให้เป็นสัปดาห์รณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้พยายามให้แม่เลี้ยงทารกด้วยนมแม่เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 4 เดือน โดย ร.พ. และสถานีอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ได้กลายเป็นสถานพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายให้แม่เลี้ยงทารกด้วยนมแม่ติดต่อกัน 4 เดือน ให้ได้ร้อยละ 30 เมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ในปี 2544 ยังดูเหมือนห่างไกล เพราะปัจจุบันทำได้เพียงร้อยละ 2.92 เท่านั้นจึงต้องพยายามรณรงค์มากขึ้น โดยในปีนี้จะใช้คำขวัญว่า “อิ่มอุ่นน้ำนมแม่ สิทธิแท้ของทุกคน”
“ลูกจ้างสตรีในบางโรงงานยังไม่กล้าเสี่ยงลาครบ 90 วัน หลังจากคลอด เพราะเกรงว่าเจ้าของจะเลิกจ้างหรือเปลี่ยนงาน รวมทั้งอาจจะไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งกรมอนามัยก็พยายามผลักดันให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนในที่ทำงานเพื่อให้แม่สามารถให้นมลูกได้ครบ 4 เดือน ทั้งนี้การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีผลในทางปฏิบัติ” น.พ.วัลลภ กล่าวและว่ากระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องหาเครือข่ายเพื่อช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สตรีสามารถลาคลอดได้ถึง 4 เดือนตามอนุสัญญาเจนีวา
นางยุวดี นิ่มสมบูรณ์ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่าควรอนุญาตให้สตรีลาคลอดได้เพิ่มขึ้นจากไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์เป็นไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ และหลังจากให้กำเนิดทารกแล้วให้ลาได้อีก 6 สัปดาห์ ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะจากสหพันธ์ขององค์กรแรงงานนานาชาติว่าควรให้ลาคลอดได้ถึง 18 สัปดาห์ ซึ่งทางสภาสตรีฯ จะพยายามผลักดันต่อไป ทั้งนี้มีผลการศึกษายืนยัน ได้ว่าในระยะ 4-6 เดือนแรกคลอด สุขภาพของแม่และเด็กจะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีการให้นมแก่ทารกไปจนถึงอายุ 2 ขวบ นอกจากนี้จะรณรงค์ให้มารดาทุกคนหลีกเลี่ยงจากนมผงและอาหารเสริมต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายเพราะจะทำให้บทบาทการให้นมแม่ลดลง
ด้าน น.พ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า การรณรงค์ในปีนี้เน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นที่เด็กควรได้รับอาหารและการดูแลด้านสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด ซึ่งน้ำนมแม่เป็นอาหารสำหรับทารกที่ให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเหมาะสม สามารถลดอัตราการเกิดโรคท้องร่วง ปอดบวม ตลอดจนโรคทางช่องหูและทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นการส่งเสริมสิทธิของสตรีทุกคนให้มีสุขภาพดี ลดอัตราเสี่ยงจาการเกิดมะเร็งที่เต้านม มะเร็งรังไข่ รวมทั้งโรคโลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก และโรคกระดูกพรุน--จบ--
-นศ-