กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๙ สคร. จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจพ.ศ. .... เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทร่างกฎหมายดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจและคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งมี ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้นำข้อสังเกตและความเห็นจากการสัมมนาดังกล่าวมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสมด้วยแล้ว จึงขอให้มั่นใจได้ว่า กฎหมายนี้จะเป็นการปฏิรูปไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและไม่มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจและสภาพการจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด
นายณัฐวุฒ ไพศาลวัฒนา รองโฆษก สคร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจตามร่างกฎหมายนี้จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่จะนำรัฐวิสาหกิจไปใช้ในการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ
ผู้อำนวยการ สคร. เน้นย้ำว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันมีผลเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในระยะยาว