กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ. ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC คาดนักลงทุนจ่อเอ็กเซอร์ไซด์วอแรนต์ (UAC-W1) จำนวนมาก ดึงเงินลงทุนโครงการของบริษัททั้งเคมีภัณฑ์ และพลังงาน จำนวน 600 ล้านบาท ด้านผู้บริหาร " ชัชพล ประสพโชค " กรรมการผู้จัดการ เผยปีนี้เดินหน้าขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าวเติบโตในระดับสูง และการซื้อกิจการธุรกิจอีก 1-2 แห่งในเร็วๆนี้ พร้อมตั้งเป้ารายได้ทั้งปีโต 15-20% มาอยู่ที่ระดับ 1,800 ล้านบาท
นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยถึง การเอ็กเซอร์ไซด์ใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอแรนต์) ชุดที่ 1 หรือ UAC-W1 ว่า เป็นการใช้สิทธิเอ็กเซอร์ไซด์ครั้งสุดท้าย ซึ่งหากนักลงทุนใช้สิทธิครบทั้งจำนวนจะมีเงินทุนเข้าบริษัทประมาณ 600 ล้านบาท
"การเอ็กเซอร์ไซด์ หุ้น UAC-W1 ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยในวันที่ 14 มกราคมนี้ จะเปิดให้นักลงทุนแจ้งความจำนง เพื่อใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นเวอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญ โดยมีราคาในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ 5.5555 บาท/หุ้น และมีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1.35 หุ้นสามัญ ทั้งนี้ในวันที่ 30 มกราคม 2559 หุ้น UAC –W1 จะพ้นสภาพการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยเงินที่ได้นี้จะช่วยรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคตให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทฯ และส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นด้วย" นายชัชพล กล่าว ทั้งนี้เงินที่ได้จากการเอ็กเซอร์ไซด์ UAC-W1 ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้เพื่อการขยายการลงทุนตามนโยบายการลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งมีแผนที่จะซื้อกิจการใหม่ 1-2 แห่ง รวมทั้งลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยบริษัทฯ ตั้งงบลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูเอซี โกลบอล (UAC) กล่าวเพิ่มว่า ในปีนี้บริษัทฯ ยังคงเน้นนโยบายเชิงรุกในส่วนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ภายใต้บริษัท ยูเอซี แอดวานซ์ โพลีเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) ซึ่งจะมีการขายสินค้าเข้าสู่ตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม หรือกลุ่มประเทศ CLMV
โดยบริษัทฯ เล็งเห็นว่า กลุ่มประเทศ CLMV เป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและยังมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งยังมีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นประเทศที่มีคนสนใจเข้าไปลงทุนการผลิตและการตลาด และกลุ่มประเทศ CLMV นั้นมีพรมแดนติดกับประเทศไทยจึงเหมาะมากที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนหรือหาลู่ทางทำธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการไบโอดีเซล จะสามารถเดินเครื่องผลิต เพื่อเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2559 ส่งผลให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 แสนลิตร/วัน จากเดิม 3.5 แสนลิตร/วัน และการรับรู้รายได้จากธุรกิจโซลาร์เซลล์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกให้กับผลการดำเนินในในปี 2559 รายได้เติบโต 15-20% หรือแตะระดับ 1,800 ล้านบาท