กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักวิชาการการศึกษายุคใหม่ แนะ "โมเดลครู GENZ"ปรับโฉมครูไทยก้าวทันพฤติกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนยุคปัจจุบัน ผ่าน 3 กลวิธี คือ การสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ (Re-connection)การลดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นโดยมุ่งเสริมสร้างนิสัยให้เด็กกล้าคิด-กล้าถาม-กล้าแสดงออกการพัฒนาบทบาทใหม่ของครู (New Role) การปรับบทบาทครูผู้สอนให้เป็นเพียงโค้ช ที่คอยแนะหรือเสริมความรู้เพิ่มในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจ และ การเสริมเทคนิคการสอนรูปแบบใหม่ (New Techniques) การหยิบยกสถานการณ์ที่เด็กสนใจ ณ ขณะนั้น มาผนวกกับบทเรียนและวิทยาการใหม่ๆ เพื่อให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาได้อย่างเข้าใจและเป็นระบบ ทั้งนี้ เพื่อให้ครูยุคใหม่ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ พร้อมแนะภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ เข้าบรรจุสู่การเป็นครูในระบบ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาอันมีคุณภาพและครอบคลุม รองรับการเกษียณอายุราชการของบุคลากรทางศึกษาในตำแหน่งครู อาจารย์ กว่า 3-400,000 อัตรา ในอีก 5 ปีข้างหน้า
สอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ โทร. 02-564-4440 เว็บไซต์ http://lsed.tu.ac.th/หรือ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-564-4493
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)นักวิชาการการศึกษายุคใหม่กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่วิทยาการเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ มีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่รูปแบบการสอนของครูส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบเดิมอันอาจเป็นเหตุหนึ่งให้ครูไม่สามารถปรับตัวและก้าวทันพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของผู้เรียนหรือนักเรียนในยุคปัจจุบัน จึงเป็นส่วนหนึ่งของของปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะที่มุ่งเน้นการสร้างศาสตร์และนวัตกรรม วิทยาการ เพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกมิติ จึงได้แนะนำเปิด "โมเดลครู GENZ" สำหรับปี 2016 ซึ่งประกอบไปด้วยกลวิธีดังต่อไปนี้
การสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ (Re-connection)เนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน จะวางตัวอยู่ในลักษณะของ "ครูผู้สอน" และ "ผู้เรียน" เพียงอย่างเดียว ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างและจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ที่ห่างเหินเรื่อยมา อันเป็นผลระยะยาวที่ทำให้เด็กไม่กล้าเข้าไปปรึกษา หรือซักถามเวลาไม่เข้าใจสิ่งที่เรียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทลายช่องว่างที่เกิดขึ้น ครูพันธุ์ใหม่ จึงควรลดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยที่นักเรียนไม่ได้มองว่าครูเป็นครูที่ให้ความรู้เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเพื่อนที่สามารถปรึกษา หรือซักถามทุกข้อสงสัยได้อย่างไม่ขัดเขิน ซึ่งช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ดี ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างนิสัยให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก
การพัฒนาบทบาทใหม่ของครู(New Role)จากบทบาทของครูในปัจจุบัน ที่เป็นเพียงผู้ที่คอยส่งต่อองค์ความรู้ และยืนสอนหน้าห้องเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน แต่หากครูยุคใหม่ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็น "โค้ช" หรือ "ผู้อำนวยการเรียนรู้" ที่คอยเสริมความรู้เพิ่มเติมผ่านกลวิธีต่างๆอาทิปรับการสอนเป็นแบบรวมกลุ่ม เน้นการระดมสมอง(Brain storm) เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยมีครูเป็นเพียงผู้คอยเสริมหรือเพิ่มเติมความรู้ในส่วนที่ขาด หรือ เปลี่ยนจากการมอบหมายงานให้ไปทำที่บ้าน มาเป็นการรวมกลุ่มทำด้วยกัน ช่วยกันคิดและต่อยอดความรู้ เป็นต้น
การเสริมเทคนิคการสอนรูปแบบใหม่ (New Techniqus)เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษะการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ก็เปลี่ยน ดังนั้น เทคนิคและรูปแบบการสอนของครูยุคใหม่ก็ต้องเปลี่ยนตาม ครูจำเป็นต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทั้งเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ และสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ซึ่งอาจทำโดยการหยิบยกสถานการณ์ที่อยู่ในความสนใจของเด็ก เข้ามาผนวกกับการเรียนการสอนและสื่อมัลติมีเดียต่างๆ เพื่อให้เด็กสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียนได้อย่างเข้าใจและเป็นระบบ ขณะเดียวกัน ครู อาจใช้เทคนิคการโปรเจกต์เสียง (Voice Projection) หรือดัดแปลงเสียง ควบคู่ไปด้วยในบางช่วงของการสอน เพื่อเร้าและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ฯลฯ
รศ.ดร.อนุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ยังคงพบความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อคณะฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยคุณภาพการเรียนการสอนระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ซึ่งพบว่า โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติโดยส่วนใหญ่ เปิดรับครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง เข้ามาทำงานมากกว่าคนที่จบจากคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์โดยตรง เนื่องจากสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะด้านได้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่เปิดโอกาสให้ครูเฉพาะทางได้ฝึกปฏิบัติการสอน อาทิ โครงการทีชฟอร์ไทยแลนด์ (Teach for Thailand) โครงการที่เปิดโอกาสให้ครูรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าไปสอนเด็กนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสในสังคม เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว ยังเป็นการปลุกพลังคนรุ่นใหม่ให้หันมาเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มดังกล่าวได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิรูปการศึกษาไทย ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรมีการวางแผนระยะยาวในการแก้ไขร่วมกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ได้เข้าบรรจุสู่การเป็นครูในระบบเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาอันมีคุณภาพและครอบคลุม เพื่อเร่งสร้างครูคุณภาพ มาเติมเต็มและรองรับการเกษียณอายุราชการของบุคลากรทางศึกษาในตำแหน่งครู อาจารย์ กว่า 3-400,000 อัตรา ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้แวดวงการศึกษาไทยไม่เพียงชะงักไปด้วยปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณ แต่ยังเหมารวมไปถึงมิติของคุณภาพเช่นกันรศ.ดร.อนุชาติกล่าวทิ้งท้าย
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มุ่งสร้างศาสตร์และนวัตกรรม วิทยาการ เพื่อพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกมิติผ่านการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ อาทิ Drama and Art for Learning science, Community and Environment และ Communication and Technology ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บัณฑิตยุคใหม่ มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21"
สอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ โทร. 02-564-4440เว็บไซต์ http://lsed.tu.ac.th/หรือ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-564-4493