กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลง 4.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 26.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 5.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 59 และมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งอิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบตามอิสระ
· ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น โดยตั้งแต่กลางปี 2558 ถึงปัจจุบัน U.S. Dollar index เพิ่มขึ้น 20% เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จุดกระแสเงินทุนไหลกลับสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผกผัน ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันสูงถึง -94%
· นักลงทุนยังคงวิตกต่อทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติจีน (PBOC) ส่งผลให้ดัชนี CSI300 และShanghai Composite ปรับตัวลดลงกว่า 5% และกระทบต่อ Sentiment ของนักลงทุนต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งราคาน้ำมัน ทำให้นักวิเคราะห์ของสถาบันทางการเงินชั้นนำของโลก ต่างปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปีนี้ ล่าสุด Morgan Stanley คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent อาจลงไปแตะ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเฉลี่ยอยู่ที่ 49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2559 (บริษัท Goldman Sachs คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าราคาน้ำมันดิบอาจแตะระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล)
· Reuters Poll ระบุผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนไตรมาส 4/58 เพิ่มขึ้น จากปีก่อนอยู่ที่ 6.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.9% เนื่องจากอุปสงค์ในและนอกประเทศลดลงและคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.9% เทียบกับปี 2557ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.3% และต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ 7%
· Reuters ประเมินปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Basrah ทางตอนใต้ของอิรักเดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 8% โดยเป็นน้ำมันดิบชนิด Basrah Light ปริมาณ 2.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน และชนิด Basrah Heavy ปริมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทำลายสถิติสูงสุดในเดือน พ.ย. 58 ที่ระดับ3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น อยู่ที่ 515 แท่น ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
· EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 59 จะลดลงจากเดือนก่อน 120,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่คงที่จากเดือน ม.ค. 59 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับลดการลงทุนต่ำกว่าที่คาด
· บริษัทที่ปรึกษา Wood Mackenzie ระบุบริษัทน้ำมันและก๊าซทั่วโลกปรับลดวงเงินลงทุนรวมกว่า 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้หากโครงการข้างต้นดำเนินการตามแผนจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (WoodMac คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะกลับมาดำเนินการหลังจากปี 2563)
· กรมศุลกากรจีนเผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในปี พ.ศ. 2558 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ระดับ 335.5 ล้านตัน หรือ 6.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายปีตกต่ำเป็นแรงจูงใจให้เก็บสำรอง
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบร่วงผ่านแนวรับสำคัญเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และปิดตลาดต่ำกว่าระดับ $30/BBL เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยตลาดยังไม่มีปัจจัยขาขึ้นมาสนับสนุนราคาน้ำมัน ล่าสุด International Atomic Energy Agency (IAEA) รายงานอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่กลุ่ม P5+1 กำหนดไว้ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ในด้านการธนาคาร, โลหะ, เรือขนส่ง และการส่งออกน้ำมันดิบ ขณะที่ยุโรปเริ่มขั้นตอนการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเช่นกัน ซึ่งนาย Mehdi Asali ผู้แทนของอิหร่านในกลุ่ม OPEC กล่าวว่าอิหร่านพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกทันที 500,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอิหร่านจะไม่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้ทันที เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างของแหล่งผลิตจำเป็นต้องได้รับการบูรณะ เนื่องจากถูกปล่อยร้างเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้น ต่างมีมุมมองเชิงลบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน ล่าสุดสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ของน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX และ ICE ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดรอบใน 5 ปี ขณะที่สถานะการขาย (Short Position) เพิ่มขึ้นเกินกว่า 200,000 สัญญา หรือเทียบเท่า 200 ล้านบาร์เรล และสถานะการขายเฉลี่ย (Average Short Interest) ในตลาดหุ้น S&P 500กลุ่มพลังงานในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 7.28% (+0.69% จากช่วงกลางเดือน) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี ให้จับตามองการประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2558 ของจีนในวันที่ 19 ม.ค. 59 นี้ ซึ่งหากสูงกว่าที่คาด (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า GDP ไตรมาสที่ 4/58 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% ) อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brentเคลื่อนไหวที่ระดับ 26.18 -30.98 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวที่ระดับ 27.59 - 31.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai เคลื่อนไหวที่ระดับ 24.18-28.98 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี และบริษัทน้ำมันแห่งชาติ CNOOC ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินปริมาณ 297,500 บาร์เรล จากโรงกลั่นน้ำมัน Huizhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ม.ค. 59 ทั้งนี้ CNOOC ได้รับโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินปริมาณ 2.55 ล้านบาร์เรล สำหรับไตรมาสที่ 1/59 ประกอบกับปริมาณสำรองทั้งในยุโรปและสหรัฐฯอยู่ระดับสูง โดย PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรปที่Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 14 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล หรือ 13.2 % อยู่ที่ 8.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 240.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 88 RON แบบสัญญาระยะยาว (Term) ปริมาณรวม 1.0-4.5 ล้านบาร์เรลต่อเดือน ส่งมอบเดือน ก.พ.- มิ.ย. 59 เพิ่มเติมจาก Term ที่จัดซื้อในเดือน ธ.ค. 58 ปริมาณเกือบ 6.0 ล้านบาร์เรลต่อเดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47.18-51.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าว Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางยังคงเข้ามาสู่เอเชีย ซึ่งอยู่ในภาวะล้นตลาด เนื่องจาก Arbitrage สู่ยุโรปปิด ขณะที่ Essar oil Ltd. (EOL) ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซลแบบ Term ชนิด 0.001 %S หรือชนิด 0.05 %S ปริมาณ 490,000บาร์เรลต่อเดือน ส่งมอบ เม.ย.- ก.ย. 59 และ CPC Corp. ของไต้หวันขายน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณ250,000 บาร์เรลส่งมอบ 16-27 ก.พ. 59 และออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.4 %S ปริมาณ 80,000 บาร์เรล ส่งมอบ ก.พ. 59 อย่างไรก็ตาม PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 14 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล หรือ 1.7% อยู่ที่ 25.9 ล้านบาร์เรล และมีข่าว Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซลชนิด 0.05%S ปริมาณ 500,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 20 - 30 ม.ค. 59 และ Petco Trading Labuan Co. ของมาเลเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 % S ปริมาณรวม224,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ม.ค. 59 นับเป็นการออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซลครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ ปกติPetco จะเป็นฝ่ายออกประมูลขายในตลาดจรแต่เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมัน Melaka (270,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Petronas ปิดซ่อมบำรุง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.18 – 37.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล