กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยสุขภาพหลายชนิด ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือโรคปอดบวม
โรคปอดบวม เกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และการสำลักสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งสกปรกเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้ การติดต่อของโรคปอดบวมสามารถติดต่อได้โดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยเมื่อ ไอ จาม หรือหายใจรดกันหรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อ่อนแอ พิการ มักพบเกิดจากการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูกและลำคอเข้าไปในปอด
อาการของโรคปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม ต้องรีบพบแพทย์ทันที โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไมได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้มีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวายได้
ผู้ที่มีอาการของโรคปอดบวม ต้องรีบเข้าพบแพทย์และรับการรักษาในโรงพยาบาล จากนั้นต้องดูแลตนเองโดยการใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลา ไอ จาม หรือสวมหน้ากากป้องกันโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ รับประทานอาหารที่อ่อนย่อยง่าย รับประทานผักผลไม้ ดื่มน้ำอุ่น ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
การป้องกันโรคปอดบวมจะใช้วิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เช่นเดียวกับโรคหวัด คือให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สถานที่ที่มีมลภาวะ เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ และหมอกควันในอากาศ โดยเฉพาะเด็กทารก หากเป็นโรคปอดบวมจะมีอันตรายมาก และหลีกเลี่ยงให้เด็กอ่อนสัมผัสกับความหนาวเย็น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโรคปอดบวมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
สำหรับสถานการณ์โรคปอดบวมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม -31 ธันวาคม 2558 พบผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 3,665 คน จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือจังหวัดสงขลา จำนวน 1,272 คน รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาส จำนวน 703 คน จังหวัดตรังจำนวน 539 คน จังหวัดพัทลุงจำนวน 345 คน จังหวัดยะลา 317 คน จังหวัดปัตตานี 291 คน และจังหวัดสตูล 197 คน ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคืออายุ 0-4 ปี