World Bank มอบเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กทม. ตั้งหน่วยงานแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 5, 2000 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กทม.
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้รับเงินสนับสนุนให้เปล่าจากธนาคารโลกหรือ World Bank จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะในด้านการจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีคณะทำงานประจำ และสำนักงานถาวรตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินงานในด้านการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร เป็นไปอย่างจริงจัง และมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นประกอบด้วย คณะผู้บริหารและคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการบริหารคุณภาพอากาศ มี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน 2. คณะกรรมการผู้จัดการคุณภาพอากาศ มี ตน เป็นประธาน 3. คณะทำงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ, ขสมก., กรมขนส่งทางบก, สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ, กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเอกชนอื่นๆ ฯลฯ รวมทั้งรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาปรับใช้กับโครงการต่างๆ โดยบุคลากรของคณะทำงานจะมาจากหน่วยงานของกทม. 4 หน่วยงาน คือ 1. สำนักเทศกิจ 2. สำนักการจราจรและขนส่ง 3. ฝ่ายซ่อมบำรุง กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง 4. กองควบคุมและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักปลัดกทม.
สำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับมาจำนวน 1 ล้านเหรียญนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นงบประมาณสำหรับประสานงานและดำเนินโครงการต่างๆ และเป็นงบประมาณสำหรับจ้างที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จาก World Bank จะเดินทางมาติดตามผลการดำเนินการ ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ผู้บริหารและปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครเป็นระยะๆ
อนึ่ง กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการด้านการจัดการคุณภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โครงการที่เริ่มดำเนินการล่าสุดเมื่อเช้าวานนี้ ได้แก่ การออกคำสั่งฯ ให้รถที่มีควันดำ—ควันขาวแก้ไขภายใน 15 วัน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 สำหรับโครงการต่อไปที่จะดำเนินการในวันที่ 21 เม.ย. นี้ คือ การจัดประชุมและการลงนามในสัญญาร่วมกันของบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายยานยนต์ เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายยานยนต์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ ที่บริษัทได้จำหน่ายไปแล้วไม่ได้มาตรฐาน หรือตรวจสอบแล้วก่อมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมโครงการระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน, โครงการรถเมล์ไฟฟ้า, โครงการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน เป็นต้น--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ