กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด) ที่ระดับ "A-" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของชื่อตราสัญลักษณ์ "ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ" ของบริษัทในส่วนของสินเชื่อบุคคลที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระบบการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็ง ตลอดจนเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางทั่วประเทศ และฐานลูกค้าของบริษัทที่กระจายตัวดีด้วย อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินในฐานะที่เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทก็เป็นปัจจัยกดดันอันดับเครดิตเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการจัดการกับขนาดสินเชื่อที่ค่อนข้างใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อเอาไว้ในระดับที่ยอมรับได้ ในขณะที่การสนับสนุนจากธนาคารแม่จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป
การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถดำรงประวัติด้านธุรกิจอันแข็งแกร่งต่อไปได้ในขณะที่ยังคงผลประกอบการด้านการเงินที่เข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ สถานะทางธุรกิจที่ก้าวหน้าขึ้นมีปัจจัยชี้วัดคือความสามารถของบริษัทในการควบคุมค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการเพิ่มศักยภาพสถานะการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อธนาคารแม่ที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพสินทรัพย์และสถานะในการแข่งขันของบริษัท รวมถึงการสนับสนุนจากธนาคารแม่ของบริษัท
บริษัทเงินติดล้อก่อตั้งในปี 2549 โดย AIG Consumer Finance Group Inc. (AIGCFG) เพื่อซื้อสิทธิ์ในชื่อตราสัญลักษณ์ "ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ" และสินทรัพย์ทั้งหมดยกเว้นลูกหนี้คงค้างจาก บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด ในปี 2552 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ถือครองหุ้นทั้งหมดของบริษัทจาก AIGCFG ทั้งนี้ บริษัทมีชื่อเดิมว่า บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ในเดือนตุลาคม 2558 โดยปัจจุบันบริษัทจัดเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม Non-solo Consolidation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และหลังจากเป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาแล้ว บริษัทก็สามารถใช้ประโยชน์ด้านการจัดหาเงินทุนจากธนาคารในการขยายสินเชื่อของบริษัทรวมทั้งประโยชน์ด้านอื่น ๆ จากการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับธนาคาร ซึ่งรวมถึงการใช้ช่องทางในการแนะนำลูกค้าและระบบการจัดการสินเชื่อหลัก บริษัทได้พัฒนาและปรับใช้ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงระบบการจัดการความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทได้รับการตรวจสอบและติดตามจากธนาคารแม่อย่างใกล้ชิดและได้รับการควบคุมทางอ้อมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านทางธนาคารแม่ด้วย
บริษัทให้บริการกู้ยืมแก่ลูกค้าที่มีรายได้ต่ำซึ่งไม่มีเอกสารที่เป็นทางการแสดงที่มาของรายได้หรือมีเพียงบางรายการโดยใช้ยานพานะ เช่น รถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และรถทางการเกษตร เช่น รถแทรคเตอร์ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปัจจุบันบริษัทใช้ชื่อตราสัญลักษณ์ "ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและในกลุ่มบริษัทที่เสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทสินเชื่อบุคคลโดยใช้ยานพาหนะเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วเป็นกลยุทธ์หลักในการดึงดูดลูกค้า ความเสี่ยงของฐานลูกค้าของบริษัทได้รับการลดทอนลงบางส่วนจากสินเชื่อที่มีขนาดเล็กและฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวยังได้รับการควบคุมจากนโยบายการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการควบคุมและติดตามสินเชื่อที่แข็งแกร่งด้วย บริษัทยังได้ขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมซึ่งบริษัทจะได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้อีกด้วยเช่นกัน
ความต้องการรับบริการทางการเงินจากกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินยังคงมีอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการสนับสนุนของธนาคารแม่ยังส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างความเติบโตที่เข้มแข็งแก่สินเชื่อของบริษัทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ กล่าวคือ สินเชื่อของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,673 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 13,555 ล้านบาทในปี 2557 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ 52% สินเชื่อของบริษัทยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 15,850 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 (ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี) ทั้งนี้ ระบบปฏิบัติการของบริษัทจัดได้ว่ามีความเข้มแข็งและเพียงพอที่จะสนับสนุนธุรกิจของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องใช้เวลาพิสูจน์ความสามารถในการจัดการสินเชื่อรวมที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบันและสร้างผลประกอบการที่น่าพอใจด้วยคุณภาพสินเชื่อในระดับที่ยอมรับได้
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนลดลงจาก 1.8% ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ มาอยู่ที่ระดับ 0.6% ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนดังกล่าวรักษาระดับอยู่ที่ 0.7% ณ สิ้นปี 2556 ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% ณ สิ้นปี 2557 และ 1.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฐานลูกค้าของบริษัทซึ่งโดยปกติมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูง บริษัทมีนโยบายการตั้งสำรองที่ระมัดระวังโดยรักษาเกณฑ์อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อรวมขั้นต่ำที่ระดับ 6.25% ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวมากเพียงพอต่อระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทในปัจจุบัน
อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยรับของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข่งขันโดยตรงจากคู่แข่ง รวมทั้งจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในหลักทรัพย์ค้ำประกันของฐานสินเชื่อรวม และจากการขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพเครดิตที่เข้มแข็งขึ้น ส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยรับของบริษัทลดลงจาก 28.2% ในปี 2554 เป็น 21.2% ในปี 2557 ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับ 4.4%-5% ในช่วงเดียวกัน ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 23.8% ในปี 2554 เป็น 16.6% ในปี 2557 หากบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพของสินเชื่อในปัจจุบันเอาไว้ได้ อัตราส่วนดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายก็จะยังคงถือว่าสูงเพียงพอที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่โดดเด่นต่อไปได้ กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 57 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 517 ล้านบาทในปี 2557 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มจาก 1.9% ในปี 2553 เป็น 4.7% ในปี 2556 แม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 4.3% ในปี 2557 ก็ตาม งบการเงินของบริษัทที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีระบุว่ากำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มเป็น 4.8% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี)
บริษัทมีการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินที่ดีภายใต้การควบคุมของธนาคารแม่ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่และจัดเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม Non-solo Consolidation ด้วย ซึ่งบริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มดังกล่าวจะมีข้อจำกัดในด้านการสนับสนุนทางการเงินที่จะได้รับจากธนาคารแม่ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดดังกล่าว แต่ระดับวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่จำกัดไว้ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสามารถให้แก่บริษัทได้ยังคงมากเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทได้ บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่มีสถานะเป็นบริษัทย่อยเป็นต้นมา หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนในปี 2552 ฐานทุนของบริษัทก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของฐานทุนนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตที่ค่อนข้างมากของสินเชื่อ จึงส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 29.1% ในปี 2552 เป็น 15% ณ สิ้นปี 2556
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มความแข็งแกร่งของฐานทุนผ่านการปรับโครงสร้างเงินทุน โดยหลังจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ สถานะของบริษัทก็เปลี่ยนมาเป็นบริษัทต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวกำหนดให้บริษัทต้องดำรงฐานทุนชำระแล้วที่เพียงพอเพื่อรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนชำระแล้วไม่ให้ต่ำกว่า 7 เท่า ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2557 บริษัทได้เพิ่มทุนอีก 1,800 ล้านบาท การปรับโครงสร้างเงินทุนดังกล่าวช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทให้เพิ่มขึ้นเป็น 24.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนดังกล่าวยังดำรงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ 23.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 จากการเพิ่มทุนอีก 300 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 การสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการด้อยลงของอัตราส่วนทางด้านโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลงได้
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (NTL)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
NTL166A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
NTL16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
NTL16DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
NTL177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
NTL17DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
NTL185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
NTL18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
NTL19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A-
NTL19DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 275 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A-
NTL20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable