กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สสวท.
สสวท. เผยความคืบหน้าในการพัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พร้อมรวบรวมข้อเสนอแนะเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ วางแผนจัดทำสื่อการสอน หนังสือเรียน และคู่มือครูให้สอดคล้องกัน รวมทั้งประเมินจุดเด่น-จุดด้อยของไทยเพื่อพัฒนาหนังสือเรียน
ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ในการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พื้นฐาน 12 ชั้นปี ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาตินั้น สสวท. ได้จัดทำมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้เปิดเวที รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรฝ่ายต่างๆ ทั่วประเทศถึง 5 ครั้ง ทำให้ได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากต่อการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ดังกล่าว
งานที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือ การประสานกับกรมวิชาการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับปรุงแก้ไขและนำเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังสถานศึกษาทำความเข้า ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีแผนที่จะประชุมผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปหลักสูตร และเตรียมวิทยากรท้องถิ่นไว้ด้วย เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานให้เข้าใจยิ่งขึ้น
ดร.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า ตามแผนที่กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศใช้หลักสูตรมาตรฐาน 12 ชั้นปี ในเดือนพฤษภาคม 2544 และโรงเรียนจะใช้จริงในปีการศึกษา 2545 นั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คงจะต้องพิจารณาในเรื่องการจัดทำสื่อการสอน หนังสือเรียน และคู่มือครูให้สอดคล้องกันไปด้วย
สำหรับการดำเนินการของ สสวท. ในปีงบประมาณ 2544 ได้วางแผนพัฒนาสื่อ 53 รายการ โดยเน้น ป.1-ป.4 เป็นรายปี ส่วน ม.1-3 จะพัฒนาเฉพาะ "แกนร่วม" ที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน ม.4-ม.6 ทำ "แกนร่วม" ที่ทุกคนต้องเรียน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นวิชาเฉพาะที่เป็น "แกนเลือก" สำหรับนักเรียนที่จะไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และนักเรียนพื้นฐานที่ไม่ไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ สสวท. ได้มีแผนจะจัดประชุมเพื่อประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันราชภัฎเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและร่วมกันอบรมครูด้วย
นอกจากนั้น สสวท. ยังมีแนวคิดว่า น่าจะทำหนังสือเรียนที่อาจอาจแตกต่างจากเดิม คือ เป็นหนังสือเรียนที่ไม่ผูกติดกับรายวิชา แต่จะเป็นหนังสือเรียนประจำช่วงชั้น หรือหนังสือเรียนประเภทรายปีที่มีข้อเสนอกิจกรรมต่างๆ ให้ครูเป็นทางเลือกได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเนื้อหาในหนังสือให้กว้างและลึกขึ้น มีกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งจะนำข้อสอบ IEA ซึ่งเป็นการวิจัยและประเมินผลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ร่วมกับนานาชาติ มาศึกษาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยอ่อนตรงไหน และควรจะเพิ่มเติมอะไร
ในการนี้ คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน ได้มีความเห็นว่า เนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก จึงควรเชิญนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่เคยรับทุน พสวท. นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นร่วมเป็นคณะทำงานในการพัฒนาหลักสูตรด้วย--จบ--
-อน-