กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS บริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิจากรัฐบาลไทยในการทำธุรกิจจัดเก็บ และให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่อากาศยานทุกประเภทและทุกเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงาน
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้รับหลักทรัพย์ของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงาน "BAFS นับเป็นบริษัทที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเนื่องจาก BAFS ดำเนินธุรกิจที่ความจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และการส่งออก นอกจากนี้ บริษัทฯยังเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งจากการจัดระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย BAFS จึงนับเป็นหลักทรัพย์ที่น่าสนใจหลักทรัพย์หนึ่งที่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในอนาคต"
BAFS เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์กำไรสุทธิซึ่งกำหนดว่าจะต้องมีกำไรในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 3 หลักเกณฑ์ของเกณฑ์ทั่วไปในการรับหุ้นสามัญเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยในปี 2542 BAFS มีกำไรสุทธิจำนวน 216 ล้านบาท ปัจจุบัน BAFS มีทุนชำระแล้วทั้งสิ้น 250 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering : IPO) อีกจำนวน 9 ล้านหุ้น รวมเป็นทุนชำระแล้วที่จะนำเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์จำนวน 340 ล้านบาท และจะมีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยสมบูรณ์และพร้อมเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ได้ หลังจากที่ได้ดำเนินการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยครบถ้วนภายในเวลา 6 เดือน นับจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ว่ามีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วนสามารถเข้าจดทะเบียนได้
หม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) กล่าวว่า "บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิจากรัฐบาลไทยในการดำเนินธุรกิจจัดเก็บ และให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่อากาศยานทุกประเภทและทุกเที่ยวบิน ณ สนามบินดอนเมือง จากนโยบายการเปิดเส้นทางการบินเสรีของรัฐบาล ทำให้เรามั่นใจใน
การดำเนินธุรกิจของ BAFS ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานที่คาดว่าจะสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีแผนการลงทุนอีกหลายโครงการ ได้แก่โครงการระบบท่อส่งน้ำมันอากาศยาน โครงการก่อสร้างคลังน้ำมันอากาศยานและ โครงการลงทุนเป็นผู้ประกอบการเติมน้ำมันอากาศยาน ในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนที่สนามบินอื่น ๆ ภายในประเทศ เพื่อให้ธุรกิจการเติมน้ำมันอากาศยานมีความมั่นคงด้วย ที่สำคัญบริษัทฯดำเนินงานแบบมืออาชีพและมีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของสายการบินนานาชาติทั่วโลก รวมทั้ง ยังได้รับการรับรองระบบคุณภาพมาตรฐานสากล ISO 9002 โดยสถาบันรับรองนานาชาติ บูโรเวอริตัส (BVQI) ซึ่งให้การรับรองว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลจากการประกวดการปฏิบัติอันเป็นเลิศเชิงบรรษัทภิบาล ประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ประจำปี 2543 จากสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ บริษัทฯคาดว่าภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จในปี 2544 บริษัทฯจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,942 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็น 1,721 ล้านบาท และจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.13 เท่า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะดำเนินโครงการในอนาคตได้เป็นอย่างดี"
หลังการกระจายหุ้นโดยการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว BAFS จะต้องมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนไม่ต่ำกว่า 600 ราย ซึ่งถือหุ้นรวมกันจำนวนไม่ต่ำกว่า 6.8 ล้านหุ้น (เท่ากับร้อยละ 20 ของทุนชำระหลังการกระจายหุ้น) โดยหุ้นของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมหรือมีอิทธิพลในการบริหารงาน จำนวนรวมกันเท่ากับร้อยละ 35 ของทุนชำระแล้วหลังเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (340 ล้านบาท)จะอยู่ในช่วงเวลาห้ามขายหุ้นหรือ Silent Period เป็นเวลา 6 เดือน
บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิจากรายได้ทางตรง (รายได้จากการเติมน้ำมันอากาศยาน) ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2540 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2543 (มกราคม - กันยายน) บริษัทมีรายได้จากการเติมน้ำมันที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เท่ากับ 631, 758, 692 และ 563 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นประมาณร้อยละ 54-60 มาตลอด โดยมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยร้อยละ 26
สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ประกอบด้วย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 31 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร้อยละ 11 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ร้อยละ 6.72 และบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ 6 แห่ง ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 48
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร. 229 - 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229 - 2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 229 - 2039--จบ--
-อน-