กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 – 14 มกราคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.67 ระบุว่า สาเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง รองลงมา ร้อยละ 44.36 ระบุว่า สาเหตุมาจากการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานและมีการเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 37.73 ระบุว่า สาเหตุมาจากนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับว่าผิด ร้อยละ 31.97 ระบุว่า สาเหตุมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการ ร้อยละ 2.00 ระบุว่าสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การแย่งชิงอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน การขัดแย้งผลประโยชน์การแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย และความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่หมดไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.19 ระบุว่า สาเหตุมาจากการแย่งชิงอำนาจกันแบบเอาชนะคะคาน ไม่มีใครยอมถอย รองลงมา ร้อยละ 36.45 ระบุว่า สาเหตุมาจาก ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆในสังคม ร้อยละ 28.54 ระบุว่า สาเหตุมาจากการขัดแย้งส่วนตัวของผู้นำและกลุ่มการเมืองต่างๆในสังคม ร้อยละ 10.39 ระบุว่า สาเหตุมาจากการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างประเทศ ร้อยละ 1.28 ระบุว่าสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมือง การแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายของคนในชาติ การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเลือกปฏิบัติ ขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ล่าช้า และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งในสังคม เป็นผลมาจากการที่ผู้คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นที่ต่างกันในประเด็นว่า การกระทำใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และ การกระทำใดเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ถูกต้อง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.90 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.40 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น เห็นด้วยเป็นบางเรื่อง อยู่ที่ความคิดเห็นแต่ละคน และร้อยละ 3.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสื่อที่ชอบเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.91 ระบุว่า เป็นสื่อโซเชียลมีเดีย รองลงมา ร้อยละ 44.92 ระบุว่า เป็นสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 32.21 ระบุว่า เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 22.94 ระบุว่า เป็นสื่อวิทยุ ขณะที่ ร้อยละ 3.68 ระบุว่า ไม่มีสื่อใดที่เสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขึ้นเป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้คนหรือกลุ่มคนที่มีอยู่ในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.42 ระบุว่า เห็นด้วยในการกำหนดกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 14.71 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.87 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.71 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.34 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 58.19 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 41.81 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.24 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.94 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.14 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.85 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 14.55 มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและร้อยละ 1.28 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.72 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.04 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.10 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 76.34 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 0.96 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และ ร้อยละ 1.60 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 24.94 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.90 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.79 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.94 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.27 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 15.03 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.35 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.06 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.51 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.99 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.19 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.48 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.51 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.26 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 34.13 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.67 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 5.12 ไม่ระบุรายได้