กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 31.3, 37.0 และ 31.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 43.6, 13.2, 12.6, 13.4 และ 17.2 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.7 และ17.3 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.8 ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ ในเดือนธันวาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเดือนธันวาคม ได้แก่ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.7 โดยปรับตัวลดลงจาก 104.4 ในเดือนพฤศจิกายน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า เกิดจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากมีการเร่งการใช้จ่ายในช่วงปลาย ปี 2558 ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องประดับ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความกังวลต่อภัยการก่อการร้ายในหลายประเทศ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนธันวาคม 2558 จากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร,อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 ลดลงจาก 101.3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 87.3 เพิ่มขึ้นจาก 84.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง,อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.6 ลดลงจาก 104.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 95.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์อ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับ108.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.8 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกและภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 88.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ88.5 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ โปสการ์ด และการ์ดต่างๆ มีคำสั่งซื้อและยอดขาย ในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่)อุตสาหกรรมพลาสติก (ภาชนะพลาสติก และหลอดพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ร้านอาหารและโรงแรม, ด้านบรรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติก มียอดการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น, ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับรถยนต์ มียอดการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อใช้อุตสาหกรรมยานยนต์) อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารสด อาหารแช่แข็ง และเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม นม สุรา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น, ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ (ก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแทน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 88.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 87.8 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์เซรามิก มียอดการส่งออกไปยังตลาดยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย เพิ่มขึ้น ขณะที่เซรามิกตกแต่ง และสุขภัณฑ์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ไหมดิบ ไนลอน และอะคริลิค มียอดสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมีการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อกันหนาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ทำให้ประชาชนจับจ่ายมากขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ผลิตภัณฑ์หลังคา Metal sheet มียอดขายในประเทศลดลง, กระเบื้องไฟเบอร์ กระเบื้องลอนคู่ มียอดการส่งออกไปประเทศ พม่า กัมพูชา ลาว ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ101.4 ลดลงจากระดับ 107.1ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 77.4 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จ มียอดขายในประเทศ เพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตบล็อค มียอดการส่งออกไปอาเซียน ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้าง หินประดับ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการซ่อมแซมถนนของภาครัฐ) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และของที่ระลึก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยว) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ (งานหล่อเหล็กมีการผลิตลดลง เนื่องจากลูกค้าในประเทศชะลอการสั่งซื้อ ประกอบต้นทุนในการประกอบการสูงและเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่มีวันหยุดต่อเนื่อง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.2 ลดลงจากระดับ 107.4 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ 88.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.0 ในเดือนพฤศจิกายนองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2559 ขณะที่รถยนต์นั่ง รถปิกอัพ มีการส่งออกไปประเทศ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ช่วงล่าง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย และตะวันออกกลาง ขณะที่ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมการขายและมาตรการลดภาษีของรัฐบาล) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กแผ่นรีดร้อน-เย็น มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบต้นทุนในการผลิตสูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์โครงเหล็ก เหล็กเส้น มียอดส่งออกไปประเทศกลุ่ม CLMV ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 ลดลงจาก 106.5 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 83.3 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ยอดขายน้ำมันปาล์ม ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการใช้สูงในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ผลปาล์มดิบราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ยอดขายไม้ยางพาราแปรรูปในประเทศเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน) อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น (สินค้าประเภทแผ่นปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้แผ่นบาง ไม้อัด มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ไม้เส้นฟิงค์เกอร์จอยด์ ไม้อัดวีเนียร์ มียอดการส่งออกไปประเทศจีน และมาเลเชีย เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่มีค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (เนื่องจากราคายางตกต่ำมากทั้งยางดิบและยางแผ่นรมควัน ขณะที่ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น 60 % ยางแผ่นรมควัน มีการส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรปลดลง เนื่องจากภาวะเศรฐกิจโลกที่ชะลอตัว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ100.5 ลดลง จากระดับ 102.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนธันวาคม 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม จากเดือนพฤศจิกายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวเพิ่มจากระดับ 84.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์,อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.3 ลดลงจากระดับ 103.6ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 98.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.6 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม,อุตสาหกรรมพลาสติก,อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.7 ลดลงจากระดับ 108.0 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2558 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนธันวาคม คือ เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อสร้างกำลังซื้อในภาคเกษตร อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิตสินค้า เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าไทย และ ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย