กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึงความเป็นมา ของสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ประเทศไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนก็ได้พยายามเตรียมการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคประชาชน ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ จนถึงภาคเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้องลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำเอาไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด
สำหรับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในภาคส่วนที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ่มค่า รวมถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนรอบข้าง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ สภาอุตสาหกรรมฯ ในการส่งเสริมให้สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรที่ประกอบกิจการโดยยึดหลักการมีธรรมาภิบาลที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สถานการณ์น้ำปัจจุบัน
ภาพรวมของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ คิดเป็น 518,000 ตารางเมตร มีปริมาณฝน 1,426 มิลลิเมตร/ปี คิดเป็น 730,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นน้ำซึมลงดินปริมาณ 520,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำผิวดินปริมาณ 210,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่การกักเก็บน้ำมีเพียง 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ความจุเก็บกักจริงหากเต็มพื้นที่สามารถบรรจุได้ 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 มีมติให้เตรียมการรับสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งในปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 จำนวนทั้งสิ้น 548 อำเภอ จากทั้งหมด 928 อำเภอ คิดเป็น 59% ทั้งนี้การแก้ปัญหาจะมุ่งเน้นที่น้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยจะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ และการเจาะน้ำบาดาล
ข้อมูลจาก กรมชลประทาน แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของแต่ละภูมิภาคในช่วงเวลาเดียวกันจะมีปริมาณน้อยกว่าปี 2558 ทุกภูมิภาค (วันที่ 14 มกราคม 2559)
ภาคใต้ และภาคตะวันออก ในปี 2559 นี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่สำหรับภาคตะวันออกอาจมีบางจังหวัดที่อาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยต้องจัดหาน้ำมาเพิ่มเพื่อเสริมเสถียรภาพด้านน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วนในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมีการกำหนดแผนงานทั้งการหาแหล่งน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำเอกชนอื่นๆ รวมถึงเร่งรัดการลงทุนในโครงการวางท่อต่างๆ และพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตภัยแล้งขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ
ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2559 เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักน้อย โดยพื้นที่ภาคกลาง (ฝั่งตะวันออก) กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้เฉพาะสำหรับการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 ไว้ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้มีการจัดสรรน้ำเผื่อไว้สำหรับการเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการทำนาปรังในปี 2559 แต่ในปัจจุบันยังคงมีการปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดว่ามีการใช้น้ำจากการปลูกข้าว ประมาณ 1,0000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงอาจมีปัญหาในภาพรวมจากการมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในปี 2559 ในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเป็นภูมิภาคหนึ่งที่อาจประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบปัญหาดินและน้ำเค็ม
ภาพรวมผลกระทบ
จากวิกฤตภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องมีการพึ่งพาน้ำในการผลิต ซึ่งหากพิจารณาจากแหล่งน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์แล้วอาจแบ่งออกได้ดังนี้
น้ำผิวดินจากแหล่งน้ำธรรมชาติ : จากสถิติที่ผ่านมาในบริเวณลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ อุตสาหกรรมที่มีความต้องการน้ำสำหรับการผลิตในปริมาณสูง จะตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำท่าจีน
น้ำผิวดินซึ่งเป็นบ่อเก็บกักภายในโรงงาน : ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะมีการจัดเตรียมบ่อเก็บกักเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ภายในโรงงาน โดยรวบรวมทั้งมาจากน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง
น้ำบาดาล : จากวิกฤตภัยแล้งของประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในการรับมือวิกฤตภัยแล้ง
สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งในส่วนความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ และในส่วนของภาคอุตสาหกรรม
มาตรการเร่งด่วน
1. สื่อสารข้อมูลไปยังสมาชิกผู้ประกอบการเพื่อให้ทราบสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้กลไกของ War room น้ำ ใน 4 ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
2. การดำเนินงานด้าน CSR ด้านน้ำ โดยแบ่งปันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างและภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง ลักษณะเช่นเดียวกับ "โครงการ ส.อ.ท.ปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง" ที่ สภาอุตสาหกรรมฯ ดำเนินการร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแบ่งปันน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการนำน้ำบาดาลที่ยังมีเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมาแบ่งปันให้กับชุมชนใกล้เคียง โดยในปีนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการสนับสนุนน้ำดื่มให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา อาทิเช่น
- กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- บจก. เอสซีจี เคมิคอลส์
- บจก. ไทยน้ำทิพย์
- บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก
- สมาคมฟอกย้อมตกแต่งและพิมพ์สิ่งทอไทย
3. ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นได้อำนวยความสะดวกให้สมาชิกในการขออนุญาตขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล
4. เร่งสร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทุกภูมิภาค จำนวน 90 แห่ง ผ่าน "โครงการสร้างต้นแบบและขยายเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมฯ" ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยจะคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพตามหลักการ 3 Rs จำนวน 15 โรงงาน จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ และเข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือโรงงานที่ต้องการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จำนวน 75 แห่ง ในลักษณะพี่สอนน้อง
5. ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานวิชาการ ไปใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
6. ส่งเสริมการทำ Water Footprint ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม และนำมาหาแนวทางลดการใช้น้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ
7. การหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ESCO Fund ที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนของโครงการที่สามารถช่วยอนุรักษ์น้ำและพลังงานได้