กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมและหารือผู้บริหารหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์สร้างขึ้นจากการนำอาคารเก่าที่เป็นมรดกสำคัญ จำนวน 2 หลัง ประกอบด้วยศาลฎีกา และศาลากลางของเมือง มาปรับปรุงเชื่อมต่อเข้าหากัน โดยนำมิติด้านศิลปะ วัฒนธรรม ใส่ลงในอาคาร เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีพื้นที่ 64,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเจ้าหน้าที่เกือบ 300 คน ทั้งนี้ หอศิลป์แห่งนี้มีผลงานทั้งในด้านจิตกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และภาพยนตร์ กว่า 8,000 ชิ้น โดยเป็นผลงานที่ยืมจากประเทศต่างๆ มาจัดแสดงชั่วคราว ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นผลงานที่จัดแสดงถาวร ซึ่งผลงานถาวรในส่วนนี้ใช้เวลารวบรวมกว่า 10 ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของนโยบายและงบประมาณให้จัดซื้อสะสมผลงานจากศิลปินต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ นับเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการ ถึงแม้ว่าประเทศสิงคโปร์อาจจะไม่มีศิลปินที่ดังๆ มากนัก แต่ก็สามารถนำผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงของอาเซียนมาจัดแสดงผสมผสานได้อย่างลงตัว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของอาเซียน รวมทั้งเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาชมเป็นจำนวนมา ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม จะนำแนวทางการบริหารหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับหอศิลป์ร่วมสมัยของไทย ทั้งในเรื่องของการตลาด การหาทุน องค์ความรู้ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน รวมทั้งการดึงภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยของไทยปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังเหลือในส่วนของการตกแต่งภายใน การเก็บงานระบบไฟ ระบบเครื่องปรับอากาศ คาดว่าจะเปิดได้ในปี 2560 ซึ่งขณะนี้กำลังหารือว่าจะเป็นระบบราชการ หรืออาจจะเป็นระบบแบบกึ่งราชการโดยดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วยเหมือนกับหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ เพราะจะทำให้การบริหารจัดการมีความลื่นไหลมากขึ้น