กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
ทิสโก้มองยังตลาดหุ้นจีนเป็นบวก แม้ GDP เติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี 1990 เชื่อเป็นปัจจัยหนุนให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ต่อเนื่อง ชี้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนในประเทศ (onshore) และในตลาดฮ่องกง (offshore) กลับมาใกล้เคียงกันหลังทางการจีนเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนในสัปดาห์ที่แล้วน่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นคลายความกังวล
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า อัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาส 4 ของจีนของปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวได้ 6.8% ถือว่าต่ำกว่าคาดเล็กน้อย และประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือนธันวาคม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากกว่านี้
"เรามองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวได้เพียง 6.8% ถือว่าต่ำว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไม่รวมพื้นที่ชนบท (Fixed Asset Investment excluding rural area)ที่ยังชะลอตัวยังน่าจะทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้" นายคมศร กล่าว
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่กดดันตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปี น่าจะเริ่มผ่อนคลายลง หลังทางการจีนเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนในตลาดฮ่องกงให้แข็งค่ากลับมาอยู่ในระดับเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ ทำให้ความกังวลในตลาดการเงินต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนผ่อนคลายลง เราเชื่อว่าตลาดหุ้นจีนจะเริ่มฟื้นตัวได้หากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนไม่กลับมาถ่างกว้างขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน on/offshore ถ่างกว้างขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 2.5% เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ก่อนจะเริ่มหดแคบลงในสัปดาห์ที่แล้ว และกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันในปัจจุบัน เท่ากับส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน on/offshore ซึ่งถ่างกว้างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว หลังจากที่ ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนลง 1.9%
"ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน on/offshore สามารถชี้วัดให้เห็นถึงมุมมองของตลาดต่อทิศทางของค่าเงินหยวนในอนาคตได้ หากค่าเงินหยวน offshore อ่อนค่ากว่าในตลาด onshore มาก ก็มีแนวโน้มว่าเงินหยวนน่าจะมีทิศทางอ่อนค่าต่อซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาด แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนในทั้งสองตลาดเริ่มกลับมาใกล้เคียงกันก็น่าจะชี้ว่าค่าเงินหยวนเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความกังวลการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนเริ่มผ่อนคลายลง" นายคมศร กล่าว